วิทยาลัยดุสิตธานี หนึ่งในสถาบันการศึกษาเอกชนชั้นนำทางด้านการโรงแรมและการประกอบอาหารของประเทศไทย ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ที่มีรากฐานการก่อตั้งและเป็นส่วนหนึ่งของในเครือดุสิตธานี กลุ่มโรงแรมชั้นนำระดับ 5 ดาวของเมืองไทย จัดพิธีลงนาม “ความร่วมมือทางวิชาการ” นำโดย นางสาวฟลาวเกอะ เกอร์เบนส์ (ที่ 4 จากซ้าย) อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. วิชิตา รักธรรม (ที่ 3 จากขวา) คณบดี โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้แก่ทั้งสองสถาบัน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านวิชาชีพให้แก่นักศึกษาได้ถึงขีดสุดอย่างแท้จริง ที่ วิทยาลัยดุสิตธานี เมื่อวันก่อน
โดยภายในงานเริ่มต้นด้วยการนำทีมผู้บริหารและคณาจารย์ของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมชมห้องเรียนสาธิต ห้องปฏิบัติการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของวิทยาลัยดุสิตธานี ต่อด้วยหมายกำหนดการร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม (Workshop) ระหว่างผู้บริหารของทั้งสองสถาบันเพื่อเป็นการระดม
ความรู้ในหัวข้อ “การวิเคราะห์ทิศทางของเทคโนโลยีอาหารในอนาคต” โดยทั้งสามกลุ่มได้ระดมความคิดเพื่อนำเสนอพร้อมการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
จากนั้นเป็นช่วงเวลาของพิธีการลงนาม “ความร่วมมือทางวิชาการ” ในสัญญาของทั้งสองฝ่าย โดยนางสาว ฟลาวเกอะ เกอร์เบนส์ อธิการบดี วิทยาลัยดุสิตธานี และรองศาสตราจารย์ ดร. วิชิตา รักธรรม คณบดี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้บริหารและคณาจารย์ของสองสถาบันร่วมเป็นพยานในการลงนามครั้งนี้ ปิดท้ายพิธีการลงนามด้วยงานเลี้ยงสังสรรที่จัดเตรียมโดยนักศึกษาของวิทยาลัยดุสิตธานี จากสาขาการจัดการโรงแรม และสาขาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร ซึ่งถือเป็นการสร้างก้าวแรกของความร่วมมือที่แข็งแกร่ง
เนื้อหาและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองสถาบันในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือที่มุ่งเน้นเพื่อสนับสนุนทางด้านการศึกษาของนักศึกษา เป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาความรู้ ทักษะทางวิชาการและวิชาชีพ รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านการจัดการธุรกิจอาหาร (Food Business Management) และความรู้ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาและมีพลังความคิดสร้างสรรค์ พร้อมก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ
ในข้อตกลงความร่วมมือยังรวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี หรือบัณฑิตศึกษา หรือดุษฎีบัณฑิต รวมถึงหลักสูตรระยะสั้น ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อาทิเช่น การฝึกอบรม การบริการทางวิชาการ การประกวดแข่งขันทางวิชาการ และกิจกรรมทางวิชาชีพ โดยมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนผ่านหลักสูตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมหรือการจัดงานสัมมนา สุดท้ายแล้วผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือในครั้งนี้ก็คือนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน ซึ่งจะได้รับความรู้ ส่งเสริมความสามารถ เพิ่มทักษะ จนเกิดเป็นความชำนาญ และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป