





























ทันทีที่ก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ความสนุกสนานครื้นเครงก็ส่งสัญญาณเริ่มขึ้น เพราะนั่นหมายความว่า เรากำลังจะฉลองเทศกาลปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์อีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับวิทยาลัยดุสิตธานี ทั้งวิทยาเขตกรุงเทพฯ และศูนย์การศึกษาเมืองพัทยา ก็ตอบรับสัญญาณดังกล่าวโดยสืบสานวัฒนธรรมไทยจัดงานฉลองวันสงกรานต์จนชื่นฉ่ำทั้งสองแห่ง
สำหรับวิทยาลัยดุสิตธานี กรุงเทพฯ ได้จัดงานวันสงกรานต์ในวันที่ 10 เมษายน 2568 เริ่มต้นวันด้วยการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลกับการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 5 รูป พร้อมร่วมพิธีสงฆ์ สรงน้ำพระพุทธรูป และรับน้ำพระพุทธมนต์ ก่อนจะมีกิจกรรมประเพณีรดน้ำดำหัวคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรอาวุโส ได้แก่ ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร อธิการบดี ดร.ประวีณา คาไซ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.นนทลี พรธาดาวิทย์ คณบดีคณะศิลปะการประกอบอาหาร คุณพารณ เลขะกุล ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศและปฏิบัติการ ดร.ลภัสรดา มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา อาจารย์พชร พิริยาพร อาจารย์ประจำวิชาอาหารเอเชีย และคุณพรรณี เหรียญโมรา เจ้าหน้าที่ควบคุมงบประมาณ
ส่วนกิจกรรมรื่นเริงเริ่มขึ้นในเวลา 16.30 น. กับกิจกรรมการเปิดบูธจำหน่ายสินค้าของนักศึกษา พร้อมชมการแสดงสืบสานวัฒนธรรมไทย นั่นคือ การแสดงศิลปะการต่อสู้มวยตับจาก ซุ้มการละเล่นพื้นบ้าน ปาร์ตี้โฟม และที่ขาดไม่ได้ก็คือการเล่นน้ำวันสงกรานต์นั่นเอง หากกิจกรรมที่เรียกความสนุกสนานเบิกบานใจได้มากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นซุ้มสาวน้อยตกน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออธิการบดีให้เกียรติร่วมสนุกด้วยการสวมบทสาวน้อยตกน้ำด้วยตัวเอง โดยเงินจากการขายบัตรนั้นจะนำไปทำประโยชน์เพื่อการกุศลต่อไป
ทางด้าน วิทยาลัยดุสิตธานี ศูนย์การศึกษาเมืองพัทยา ก็ไม่น้อยหน้า โดยจัดงานสงกรานต์ขึ้นก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 เมษายน 2568 ภายใต้ชื่องาน Songkran Fun Fair 2025 เป็นความร่วมมือกันระหว่างนักศึกษาชมรมการท่องเที่ยวและอีเว้นตส์ (Events and Travel Club) และชมรมอื่นๆ อีกจำนวน 6 ชมรมของวิทยาลัยดุสิตธานี ศูนย์การศึกษาเมืองพัทยา ภายในงานมีการสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวิทยาลัย รดน้ำดำหัวคณาจารย์และบุคลากรผู้ใหญ่ อีกทั้งมีการออกบูธจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม กิจกรรมเกมต่างๆ จากแต่ละชมรม รวมถึงกีฬาที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร
การจัดงานสงกรานต์ทั้งสองแห่ง นอกจากจะทำให้บุคลากรและนักศึกษาได้ตระหนักถึงความแตกต่างของประเพณีดั้งเดิมและประเพณีร่วมสมัยของเทศกาลสงกรานต์ในยุคปัจจุบันแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความเข้าใจ ความรักความสามัคคี และสร้างความหวงแหนมรดกทางภูมิปัญญาที่บรรพชนได้รักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังสืบทอดต่อไปด้วย