![](https://dtc.ac.th/wp-content/uploads/2025/02/image.png)
เรื่องโดย อาจารย์นิศา บูรณภวังค์ อาจารย์ประจำสังกัดศูนย์ภาษา วิทยาลัยดุสิตธานี
ที่มา: The Bangkok Insight (www.thebangkokinsight.com)
——————————————————————————
“เห็นตู้กับข้าวแบบนี้แล้วนึกถึงตอนเด็กๆ เลย”
“ใช่ๆ บ้านยายเราก็มี”
เคยเดินทางไปที่ไหนแล้วเห็นเครื่องใช้แบบเก่าๆ แล้วเรานึกถึงอดีตกันบ้างไหมคะ อดีต….บางครั้งก็ทำให้เราอบอุ่นใจ แต่อดีต…บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกใจหาย
คำว่า Nostalgia แปลว่า ความอาลัยอาวรณ์ หรือ ความรู้สึกโหยหา ที่มีต่อเหตุการณ์ สถานการณ์ และสิ่งของที่สร้างความสุขให้เราในอดีต ซึ่งความรู้สึกนี้สามารถกระตุ้นได้จากหลายสิ่งและมักส่งผลในเชิงบวกให้เรานั้นรู้สึกมีความสุข อบอุ่นหัวใจ และความสบายใจ แต่ในขณะเดียวกัน Nostalgia ก็อาจเป็นเสมือนเหรียญสองด้านนะคะ ที่สามารถสร้างความรู้สึกในเชิงลบให้ได้เช่นกัน
ดังนั้นการท่องเที่ยวแนวโหยหาอดีต หรือ Nostalgia Tourism จึงเป็นปรากฏการณ์ในเชิงการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่ง ที่ตอบสนองความต้องการ ‘โหยหาอดีต’ (Nostalgia) ของมนุษย์ และนำมาสู่ความต้องการที่จะหวนย้อนกลับไปมีประสบการณ์ ‘วันชื่นคืนสุข’ ในอดีตนั้นๆ อีกครั้ง ยิ่งถ้าสังคมไหนตกอยู่ในสภาวะสังคมวิกฤติ หรือรู้สึกหมดหวังต่ออนาคตของตนเองมากเท่าไร ปรากฏการณ์โหยหาอดีตก็จะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก ผลการศึกษาของ University College London เมื่อ ค.ศ. 2007 ที่พบว่า 90% ของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเลือกที่จะท่องเที่ยวในสถานที่ที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับประสบการณ์หวานชื่นในอดีตของตนเองมากกว่าที่จะเลือกท่องเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน และที่น่าสนใจ คือ ปรากฏการณ์ Nostalgia Tourism นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่มันกำลังเป็นกระแสการท่องเที่ยวในระดับสากลที่มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี ไม่เว้นแม้กระทั่งในสังคมไทย
ถ้าลองสังเกตดู ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ กระแสการเดินทางท่องเที่ยวแบบ Nostalgia Tourism กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อาจจะด้วยเพราะมีสื่อบันเทิงหลายประเภทที่ช่วยกระตุ้นให้เราเดินตามกระแสนี้มากขึ้น ด้วยสาเหตุดังกล่าวหลายท้องถิ่นจึงนำมาพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีการเรียนรู้ร่วมกับคนในพื้นที่ มีการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น ทำให้คนในชุมชนแสวงหาจุดยืนของท้องถิ่นตนเองผ่านบริบทของการท่องเที่ยว หลายแหล่งท่องเที่ยวมีการพัฒนาสถานที่ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม หรือวิถีชีวิตอย่างน่าสนใจ
เท่าที่เหลามา เอ๊ย ..เล่ามา ทำให้เรารู้ว่าเรื่องของศาสตร์การท่องเที่ยวยังมีอะไรให้น่าสนใจอีกมากนะคะ เพราะจัดว่าเป็นอาชีพที่เปิดประตูพาเราออกสู่โลกกว้าง และยังเป็นอุตสาหกรรมบริการที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นสาขาอาชีพที่ตลาดยังคงต้องการอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่วิทยาลัยดุสิตธานีเปิดสอน จะยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ค่ะ
![](https://dtc.ac.th/wp-content/uploads/2025/02/image-1.png)