หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวทั่วโลกก็กลับมาเฟื่องฟู เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีจำนวนราว 30 ล้านคน ผลพวงหนึ่งมาจากการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของไทยทยอยเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ประเมินว่า ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการอื่นๆ จะฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2567
แม้ตัวเลขและสถิติต่างๆ จะส่งสัญญาณไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่บางคนอาจยังไม่ค่อยเชื่อมั่น วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอุดมศึกษาในเครือโรงแรมดุสิตธานีที่สอนด้านธุรกิจบริการโดยตรง จึงจัดงาน “DTC Growing to the Next Level” ขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจบริการทั้งไทยและทั่วโลกกำลังกลับมาฟื้นตัวจนแทบจะเท่าเทียมสถานการณ์ปกติก่อนโควิดระบาด โดยเชิญครูแนะแนวจากโรงเรียนทั่วประเทศมากกว่า 100 คน มาเยี่ยมชมวิทยาลัยและทำเวิร์กช็อปศิลปะการประกอบอาหารกับคณาจารย์ของสถาบัน เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนอุตสาหกรรมบริการ พร้อมทั้งเชิญ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี เครือโรงแรมชั้นนำของไทยที่เปิดให้บริการอยู่ในทุกทวีปทั่วโลก มาบรรยายช่วง CEO Talk ในหัวข้อ “Winning the Future of Thai Hospitality with Soft Power” ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบริการ
คุณศุภจีกล่าวว่า ปัจจุบันแทบจะทุกทวีปทั่วโลกกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 ระบาด โดยทวีปตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคแรกของโลกที่ฟื้นตัว 100% ในขณะที่เอเชียแปซิฟิกฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าทวีปอื่น เนื่องจากการปิดประเทศของยักษ์ใหญ่โลกอย่างจีนมีนัยยะสำคัญมาก แต่หลังจากที่จีนเริ่มเปิดประเทศ ทิศทางของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวก็ส่อเค้าดีขึ้นโดยทันที ปัจจุบันความท้าทายของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ที่ความสามารถในการตอบสนองนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มซึ่งมีความต้องการเฉพาะทางแตกต่างกันไป เช่น นักท่องเที่ยวที่สนใจด้านสุขภาพ นักท่องเที่ยวที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน นักท่องเที่ยวเชิงผจญภัย เป็นต้น ความท้าทายอีกประการคือการขาดแคลนแรงงานที่พร่องไปในช่วงโควิด-19 ระบาด จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องเร่งผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการ ทั้งนี้เครื่องมือหนึ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวก็คือ Soft Power อย่างเช่นอาหารและการบริการแบบไทยอันมีเอกลักษณ์นั่นเอง
ในขณะที่ คุณฟราวเกอะ เกอร์เบนส์ อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวต้อนรับครูแนะแนวจากทั่วประเทศ มีใจความว่า ครูแนะแนวมีบทบาทสำคัญยิ่งในการชี้แนะแนวทางอนาคตให้ลูกศิษย์ จึงอยากให้สาขาการโรงแรมและศิลปะการประกอบอาหารเป็นอีกตัวเลือกสำคัญสำหรับนักเรียนในการศึกษาต่อ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ โอกาสทำงานที่หลากหลาย โอกาสทำงานระหว่างประเทศ และเป็นทักษะที่สามารถถ่ายทอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการบริการและท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในช่วงก่อนโควิด การเรียนด้านการบริการจึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะอาชีพทางด้านนี้มีความท้าทาย หลากหลาย และไม่หยุดนิ่ง อีกทั้งมีโอกาสเติบโตมากมาย
วิทยาลัยดุสิตธานีจึงมุ่งหวังว่า การจัดงาน “DTC Growing to the Next Level” ครั้งนี้ ไม่เพียงจะทำให้เห็นถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของอุตสาหกรรมบริการซึ่งมีทิศทางในเชิงบวก แต่ยังจะกระตุ้นให้ครูแนะแนวผู้เสมือนเป็นต้นทางการชี้แนะนักเรียนให้เลือกอนาคตที่เหมาะสมกับตัวเอง ได้หันกลับมามองว่า การเรียนด้านการโรงแรมและศิลปะการประกอบอาหารมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมากเพียงใด