Hi

“แบ่งปันความทรงจำสู่รุ่นถัดไป” รวบรวมความประทับใจจากงาน Sharing 30 Years of DTC Memories

16 มิถุนายน 2023

การเดินทางของวิทยาลัยดุสิตธานีได้ดำเนินมาถึงปีที่ 30 แล้ว ความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้นที่นี่ล้วนเป็นสิ่งที่เติมเต็มให้สถานที่แห่งนี้มีชีวิตขึ้นมา อาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่าของวิทยาลัยดุสิตธานีจึงได้ร่วมแชร์เรื่องราวในความทรงจำในการสนทนาหัวข้อ “Sharing 30 Years of DTC Memories” เมื่อวันฉลองครบ 30 ปีที่ผ่านมา 

ภายในงานเสวนานี้ ได้รับเกียรติจาก อาจารย์เศรษฐา เมธีปราชญางกูร อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาภาวะผู้นำ ทรัพยากรมนุษย์ และการสื่อสาร เป็นพิธีกร รวมถึง ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการคณาจารย์ ดร.ลภัสรดา มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา อาจารย์พัชรินทร์ ลาสมวงศ์ เลขานุการวิชาการศูนย์ภาษาและอาจารย์ประจำวิชาภาษาอังกฤษ อาจารย์ปภังกร นุ่มประสิทธิ์ กรรมการบริหารหลักสูตรการจัดการโรงแรม (หลักสูตรนานาชาติ) และศิษย์เก่ารุ่นที่ 10 จากหลักสูตรเดียวกัน และคุณกฤตานน เอี่ยมเสมอ นายกสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานี ศิษย์เก่ารุ่นที่ 2 สาขาวิชาการจัดการโรงแรม มาเป็นผู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ 

ช่วงแรกของเสวนา อาจารย์เศรษฐาได้เริ่มต้นด้วยกิจกรรมออกแบบท่าทางเพื่อแสดงถึงวาระครบรอบ 30 ปีของวิทยาลัยดุสิตธานี โดยให้ผู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์แต่ละท่านออกแบบท่าทางได้เองตามที่ต้องการ ก่อนที่จะเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “หากเปรียบวิทยาลัยดุสิตธานีเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลก คุณจะเปรียบเทียบกับอะไร” 

ดร.อรรถเวทย์ ได้ให้คำตอบว่าวิทยาลัยดุสิตธานีเปรียบเสมือนเทียน แต่ไม่ใช่เทียนเพียงเล่มเดียว เป็นเทียนหลายร้อยหลายพันเล่ม เพราะการที่ทุกคนมาอยู่รวมกัน เทียนถึงได้ส่องแสงสว่างได้ บางครั้งที่เผชิญความเหนื่อยล้า เทียนบางเล่มอาจจะมอดดับไป แต่เพราะเรามีเทียนที่มีไฟลุกโชนอยู่มากมาย เราเลยช่วยกันจุดไฟให้เทียนที่ดับกลับมาส่องสว่างใหม่ได้อีกครั้ง 

ส่วนอาจารย์พัชรินทร์ ซึ่งมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับอาจารย์ปภังกร เปรียบวิทยาลัยเป็นเหมือนต้นมะฮอกกานีที่ค่อย ๆ เติบโตสูงใหญ่ ด้วยความที่มะฮอกกานีเป็นไม้ยืนต้นก็เหมือนกับว่าสถาบันแห่งนี้ค่อย ๆ เติบโตงอกงาม การผลัดใบก็เปรียบเสมือนการผลัดเปลี่ยนรุ่นของนักศึกษา รุ่นของคนที่ทำงานไป และคุณสมบัติของไม้มะฮอกกานีคือ สวยงาม แข็งแรง ทนทาน และยิ่งอายุนานขึ้นก็จะมีมูลค่าสูงขึ้น ที่สำคัญ ไม้มะฮอกกานี ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งเป็นที่นิยม ก็เหมือนกับนักศึกษาและศิษย์เก่าของเราที่ ณ ปัจจุบันนี้ ไปที่ไหนก็ได้รับความนิยม เมื่อเข้าสู่สังคมแล้วก็พัฒนาต่อไปได้ก้าวไกลเหมือนกิ่งก้านและร่มเงาของต้นมะฮอกกานี  

สำหรับ ดร.ลภัสรดา มองว่าไม่มีอะไรที่จะมาเปรียบเทียบวิทยาลัยดุสิตธานีได้ เพราะว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านการโรงแรมแห่งแรกของประเทศไทย ที่นี่มีดีในแบบของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบกับใคร ในขณะที่คุณกฤตานนกล่าวว่าวิทยาลัยฯ ทำให้นึกถึงเพลงรักนิรันดร์ของ ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ซึ่งมีเนื้อหาเรียบง่ายแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักที่มั่นคงและอยากให้ดำเนินไปเรื่อย ๆ ตลอดกาล 

ช่วงถัดมาของเสวนา อาจารย์เศรษฐาได้เปิดประเด็นคำถามที่ชวนให้นึกถึงวิทยาลัยดุสิตธานีว่ามีพื้นที่บริเวณใดที่รู้สึกผูกพันมากที่สุด ซึ่งผู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์แต่ละท่านก็มีคำตอบที่หลากหลาย  

อาจารย์ปภังกร: ผมเลือกห้องศรีนครินทร์ฮอลล์ คนที่อยู่ตั้งแต่ยุคก่อนจะทราบว่าห้องศรีนครินทร์ฮอลล์ไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้ ความทรงจำของผมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ห้องนี้มากมาย จากประกวดดาวเดือน เฟรชชี่แคมป์ งานประกวดต่าง ๆ คอนเสิร์ตที่เชิญศิลปินมา จนถึงปัจฉิมนิเทศ ผมเคยเป็นนายกสโมสรนักศึกษาในยุคนั้นเลยมาทำกิจกรรมที่นี่บ่อย ทำให้ผมรู้สึกว่าเราเสียทั้งหยาดเหงื่อ น้ำตา และมีความประทับใจหลาย ๆ อย่างที่ห้องนี้ เพราะการทำงานก็จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง น้องเหนื่อยบ้าง ผมดุน้องบ้าง ทะเลาะกับอาจารย์ปอนด์บ้าง (หัวเราะ) อาจารย์ปอนด์ว่าบ้าง ผมก็จะไปบ่นกับน้องบ้างว่าทำงานหนักขนาดนี้ยังไม่เคยพอใจ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายแล้วอาจารย์เขาก็หวังดี พอมองย้อนกลับไปแล้ว เราก็ได้ดิบได้ดีเพราะครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่านในห้องนี้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชามา 

ดร.ลภัสรดา: พี่อยู่มานาน พี่ก็รู้สึกผูกพันไปกับทุกที่ในวิทยาลัยฯ นะ แต่ถ้าที่รู้สึกผูกพันตั้งแต่ตอนเข้ามาสมัยแรก ๆ ก็คือชั้น 2 ที่เป็นห้องสำนักงานอธิการบดี สมัยก่อนส่วนใหญ่คนจะมาติดต่ออะไรก็มาที่ชั้น 2 เพราะเป็นเคาน์เตอร์รับสมัครนักศึกษา มีห้อง PR Marketing มีห้องศรีนครินทร์ฮอลล์ สมัยก่อนเราอยู่กันด้วยความลำบากมาก ๆ พี่ขึ้นมาจากจังหวัดภูเก็ตนะคะ เคยทำงานโรงแรมดุสิตลากูน่าแล้วก็ขอ transfer มาที่นี่ด้วยเหตุผลส่วนตัว ช่วงแรกมันเป็นความทุกข์ใจมาก แต่ท่านอธิการฯ วีรา ก็ support เรา ดีกับเรา ให้ความรู้ ส่งเราไปเรียน ตำแหน่งไหนที่บุคลากรลาออกในตอนนั้น ท่านก็ให้พี่ไปทำงานแทนทุกที่เลยค่ะ (หัวเราะ) ตอนนั้นพี่เลยผูกพันกับชั้น 2 เพราะว่าทุกตำแหน่งที่พี่เคยทำอยู่ชั้นนั้นทั้งหมดค่ะ 

อาจารย์พัชรินทร์: อาจารย์ทำงานที่นี่ 25 ปีก็ได้วนเวียนอยู่ตามห้องต่าง ๆ แต่อาจารย์ไม่ได้ประทับใจห้องไหนโดด ๆ เพราะว่าห้องทุกห้องรวมกันเป็นบ้าน เรียกได้ว่าที่นี่คือบ้านหลังหนึ่งที่อาจารย์ประทับใจดีกว่า มาช่วงแรก ๆ อาจารย์สอนเยอะหนักหนาขนาด 7 วันรวดก็มี สมัยก่อนหลักสูตร HAP (หลักสูตรใบประกาศนียบัตร) เราสอนกันปีละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง บางทีใช้ชีวิตที่นี่นานกว่าอยู่บ้านด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราก็ได้สัมผัสมาทุกห้องแล้ว ทั้งห้อง demo ห้อง front แต่ห้องที่ทำให้เกิดพลังงานสูงสุดจนกระทั่งได้มาร่วมงานกับที่นี่ก็คือห้องชั้น 2 ห้องของท่านอธิการฯ วีราค่ะ 

ดร.อรรถเวทย์: โถงกลางอาคาร 1 ของวิทยาลัยฯ คือจุดตรงกลางที่เป็นเหมือนสี่แยก ถ้าเรายืนอยู่ตรงนั้น เราจะมองเห็นทุกอย่างของวิทยาลัยฯ เรามองเห็นตั้งแต่ประตูรั้วหน้าวิทยาลัยฯ เดินไปนิดนึงก็เห็นประตูข้างหลัง มองเห็นสนามบาส เราเห็นหมดทุกอย่าง มันเป็นจุดที่เอาไว้ต้อนรับคนและเป็นจุดที่ไว้อำลาคนด้วย เวลาเราเดินลงไปส่งคนที่จะไม่ได้ทำงานด้วยกันที่นี่แล้ว มันก็สะท้อนใจว่าเขาจะจากเราไปแล้ว มันคือจุดของพลัง หลังจากนั้น ผมถึงได้เอาคำว่า Success through wisdom ที่ ดร.พิศาล สร้างขึ้นมาไปแปะตรงนั้น เวลาคนเดินผ่านก็จะเห็นได้ทุกคน วันไหนเหนื่อย เวลาเห็นคำนี้แล้วก็รู้สึกว่ามันคือเลือดของเรา มันทำให้เรามีแรงกระตุ้นขึ้นมา 

คุณกฤตานน: ย้อนกลับไปเมื่อ 26 ปีที่แล้วที่เข้ามาเรียนใหม่ ๆ สิ่งที่ผมจำได้คือม้าหินหน้าแคนทีน มันจะเป็นทุกอย่างสำหรับผมเลย ทั้งเล่นหมากรุก ทั้งเจอเพื่อนกันก่อนขึ้นเรียน ทั้งนัดเพื่อนหลังเลิกเรียน หรือแม้แต่โดดเรียนก็จะทักกันอยู่ตรงนั้น ในวิทยาลัยมันมักจะเปลี่ยนแปลงตลอดตามระยะเวลา บางปีผมก็ผูกพันอยู่กับชั้น 2 ด้วยความที่ผมเป็นประธานชมรมถ่ายภาพ อีกปีนึงผมก็เป็นประธานชมรมกีฬาและนันทนาการ ต้องไปหาสนามบอลให้เตะ ก็เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ ผมมีไปทำกิจกรรมเพื่อจัดตั้งสภานักศึกษา ก็มีการพยายามทำชมรม ตอนนั้นถือว่าเป็นรุ่นแรก ๆ เลยนะ 

ช่วงสุดท้ายของเสวนาเป็นการผลัดไมโครโฟนไปสู่รุ่นถัดไป นั่นก็คือการเปิดโอกาสให้บุคลากรท่านอื่น ๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ของวิทยาลัยฯ มาเป็นผู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วยคำถามที่ว่า “อะไรที่ทำให้ยังอยู่กับวิทยาลัยดุสิตธานี” ซึ่งคำตอบก็ไปในทิศทางเดียวกันว่าที่นี่เป็นองค์กรที่ดูแลพนักงานดีกว่าที่อื่น ๆ มีสวัสดิการที่พร้อม มีความยืดหยุ่นในการทำงาน มีพื้นที่สำหรับใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างโอกาสให้บุคลากรได้แสดงออกทางความคิดเห็นและลงมือทำจนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดี งานที่ได้ทำมีคุณค่าและส่งผลประโยชน์ต่อนักศึกษาทั้งในปัจจุบันและในอนาคต มีสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน อัธยาศัยของเพื่อนร่วมงานดี มีความรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่งของตน 

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ของวิทยาลัยดุสิตธานีไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือกันและคุณภาพของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ศิษย์เก่า ผู้บริหาร คณาจารย์ พนักงาน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไปจนถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ร่วมอุ้มชูอุตสาหกรรมการบริการไปด้วยกันตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงทุกวันนี้ ปีถัดไป ปีที่ 31 ของวิทยาลัยดุสิตธานี พวกเราหวังว่าทุกคนจะรักษาความสัมพันธ์และให้ความสำคัญกับร่มมะฮอกกานีแห่งนี้ต่อไป ก่อให้เกิดเป็นความทรงจำที่แน่นแฟ้นและประทับใจไปเรื่อย ๆ จนเป็นนิรันดร์ 

DTC Talk

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ข่าวอื่น ๆ

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ยินดีต้อนรับสู่วิทยาลัยดุสิตธานี​
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ คลิก!

คุณได้เพิ่มคอร์สเรียนแล้ว