Hi

“สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม” แพรว – อรสิริวรรณ อุปะละ กับผลงานชิ้นเอก สครับปากจากมันฝรั่ง

13 มกราคม 2023

.

เทรนด์สุขภาพและความงามที่กำลังมาแรงทั่วโลกเป็นโอกาสทองของหลาย ๆ ประเทศที่มีจุดเด่นด้านอายุรเวชและการดูแลสุขภาพทางเลือก รวมถึงประเทศไทยที่มีมรดกทางวัฒนธรรมด้านสุขภาพมากมาย นวัตกรรมด้านสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจึงเป็นมูลค่าเพิ่มที่หลาย ๆ ธุรกิจตามหา ที่สาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว วิทยาลัยดุสิตธานี ก็มองเห็นความสำคัญและแนวโน้มที่ดีในอนาคตของเทรนด์นี้จึงได้มอบหมายให้นักศึกษาทดลองทำสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงามที่แตกต่างจากในท้องตลาดเพื่อเป็นการเรียนรู้ศาสตร์และทักษะอีกแขนงหนึ่งที่ติดตัวพวกเขาไปได้ หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจเป็นฝีมือของ แพรว – อรสิริวรรณ อุปะละ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของสาขานี้ นั่นก็คือสครับปากที่ทำจากมันฝรั่ง 

.

“โจทย์ของอาจารย์คือให้แต่ละคนนำสมุนไพรหรือพืชที่มีในไทยมาประยุกต์เป็นสินค้าสำหรับวางขายในสปาค่ะ” แพรวเล่าถึงโจทย์ที่ได้รับในวิชานวัตกรรมการบริการในธุรกิจสุขภาพและความงาม

.  

“ในวิชาเรียนนี้จะมีการเปิดร้านสปาจำลองขึ้นมาเพื่อให้พวกเราได้เรียนวิธีนวด ต้อนรับ และบริหารจัดการลูกค้าค่ะ เพราะว่าสปาก็เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถ้าพวกเรารู้จักองค์ประกอบและธรรมชาติของสปา เราก็จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับธุรกิจนี้ได้ตรงกับความต้องการมากขึ้นค่ะ ได้ยินมาจากรุ่นพี่ค่ะว่าแต่ละปีโจทย์ของผลิตภัณฑ์ที่ต้องออกแบบนั้นไม่เหมือนกัน แต่ว่าทุกคนต้องมีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองค่ะ”

.

ผลงานผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงามจากนักศึกษาสาขานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว

.

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ไม่ใช่สายความงามอาจจะรู้จักแค่สครับที่ใช้กับร่างกาย แพรวจึงเล่าให้ฟังมากขึ้นว่าสครับปากคืออะไร และทำไมแพรวจึงเลือกออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ 

.

 “สครับปากเอาไว้ใช้ขจัดสิ่งสกปรกและรักษาสุขภาพบริเวณริมฝีปากค่ะ เวลาที่เรารู้สึกว่าปากลอก ปากแห้ง ไม่เนียนนุ่ม เราก็เอาสครับนี้มาถูริมฝีปากให้ผิวที่ตายแล้วหลุดลอกออกไป ผิวที่เกิดใหม่จะนุ่มมากกว่าเดิม โดยปกติแล้วแนะนำให้ใช้แค่อาทิตย์ละ 2-3 ครั้งก็พอค่ะ เพราะถ้าสครับบ่อยเกินไปอาจจะทำให้ปากแห้งมากกว่าเดิม ที่หนูเลือกสร้างสินค้านี้เพราะว่าสครับปากส่วนใหญ่ในท้องตลาดเป็นแบบกระปุก วิธีใช้คือเปิดฝา เอามือแต้มสครับแล้วเอาไปถูที่ปาก หนูคิดว่าวิธีการใช้มันไม่ค่อย friendly ถ้าทำเป็นแท่งแล้วหมุนทาเอาเหมือนลิปสติกมันน่าจะใช้ง่ายและสะดวกมาก ๆ ยิ่งขึ้นค่ะ อีกอย่างคือหนูมีเวลาในการออกแบบและผลิตไม่มากจึงนึกถึงพืชที่หาได้ง่าย หนูก็เลยเลือกใช้มันฝรั่งเพราะมีขายอยู่ทั่วประเทศ และหนูไปเจอมาว่าในมันฝรั่งมีเอนไซม์ PPO (polyphenol oxidase) ที่มีการศึกษามาแล้วว่าช่วยลดความหมองคล้ำบนริมฝีปาก เลยนำมันฝรั่งมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักค่ะ แถมมันฝรั่งก็ต้นทุนต่ำด้วย หนูคิดว่าถ้านำมันฝรั่งมาทำผลิตภัณฑ์ น่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับมันฝรั่งได้ด้วยและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่อาจจะแพ้สครับแบบอื่นค่ะ” 

.

เมื่อสินค้านี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตลาด ความยากที่แพรวต้องเผชิญคือการแก้ไขปัญหาระหว่างการทดลองผลิต

.

.

“หนูเลือกวัตถุดิบและขั้นตอนการทำที่ organic ที่สุดค่ะ เพราะคิดว่าถ้าตัวเองใช้ได้ ปลอดภัย ลูกค้าก็น่าใช้ได้ ไม่เกิดอันตรายค่ะ เลยเลือกทำแบบ organic 100% ซึ่งยากกว่า ตอนลองทำครั้งแรก หนูเอามันฝรั่งมาต้ม คั้นน้ำ ผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยให้ส่วนผสมเกาะตัวและทำให้ริมฝีปากนุ่ม ทั้งไขผึ้งธรรมชาติ น้ำตาล และน้ำมันมะพร้าว แล้วก็พยายามลองใส่เนื้อมันฝรั่งลงไปด้วยเพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นมันฝรั่งให้มากที่สุด แต่มันใช้ไม่ได้เพราะพอทิ้งไว้สักอาทิตย์หนึ่งก็มีราขึ้น หนูเลยต้องทิ้งแล้วทำใหม่ทั้งหมดเลย ครั้งที่สอง พอหนูต้มและคั้นน้ำเสร็จ หนูจึงเอาน้ำไปกรองให้สะอาดก่อนแล้วเอาไปต้มอีกรอบเพื่อฆ่าเชื้อโรค ปัญหาต่อมาที่เจอคือพอบรรจุลงไปในหลอดแล้วหมุนไม่ขึ้นเพราะใส่ไขผึ้งธรรมชาติเยอะเกินไป ทำให้เนื้อสครับแข็งเกินไปจนหมุนไม่ขึ้น ทำครั้งที่สามก็ใส่น้ำตาลเยอะเกินไป ทำให้สครับมีผงน้ำตาลเยอะและเหลวเกินไป แต่หนูไม่ยอมแพ้และหาข้อมูลเพิ่มเติมจนทำออกมาเป็นสครับปากแบบแท่งได้สำเร็จค่ะ” 

.

หลังจากแพรวและเพื่อน ๆ ได้ผลิตสินค้าของตัวเองออกมาเป็นที่เรียบร้อย อาจารย์ประจำรายวิชาก็ได้พาพวกเขาไปจดอนุสิทธิบัตร 

.

“ที่อาจารย์พาพวกเราไปจดอนุสิทธิบัตรเพราะอาจารย์มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่พวกเราได้สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง เลยต้องการให้พวกเราเป็นเจ้าของความคิดเหล่านี้ ส่วนใครจะนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจจริง ๆ หรือไม่ทำต่อก็ไม่เป็นไร และอาจารย์ต้องการให้พวกเรารู้ข้อมูลและรู้ขั้นตอนในการจดอนุสิทธิบัตร เผื่อในอนาคตมีใครสร้างนวัตกรรมอื่น ๆ ขึ้นมาจะได้รู้ขั้นตอนในการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญาของตัวเองค่ะ”

.

.

เมื่อสครับปากของแพรวได้นำไปวางขายจริงในสปาจำลอง สินค้าก็ถูกขายหมดไปอย่างรวดเร็ว 

.

“ตอนแรกหนูคิดว่าสินค้าของตัวเองไม่น่าจะได้รับความสนใจมากขนาดนี้ค่ะ แต่พอเอาไปวางขายจริง ๆ มีคนบอกว่าราคากับผลิตภัณฑ์มันเหมาะสมกัน บรรจุภัณฑ์ก็น่าสนใจ เขาเลยซื้อไปจนหมดเลย หนูดีใจมากเลยค่ะ” 

.

ตั้งแต่ขั้นตอนการคิดสินค้าที่จะผลิตจนถึงกระบวนการขาย แพรวได้เรียนรู้และประทับใจประสบการณ์ที่ได้สัมผัสในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งเข้มข้นราวกับได้ทำธุรกิจขึ้นมาจริง 

.

“หนูได้เรียนรู้เยอะมากเลยค่ะว่าการสร้างผลิตภัณฑ์นั้นควรเริ่มต้นที่แนวคิด บางทีไอเดียมันอาจจะมาจากความชอบของเราหรือมาจากการที่เรามองเห็นโอกาสว่าตลาดขาดผลิตภัณฑ์นี้อยู่ นอกจากนั้น หนูยังได้ความรู้มากขึ้นจากการค้นคว้าวิธีการทำ วัตถุดิบที่นำมาใช้ และอื่น ๆ อีกมากมายระหว่างทาง หนูได้เรียนรู้วิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยอิงจากกลุ่มลูกค้าเป็นหลักด้วยค่ะเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจลูกค้ากลุ่มนั้นให้ได้มากที่สุด สาขาวิชานี้สอนให้หนูรู้ว่านวัตกรรมแฝงอยู่ในทุกอย่าง รวมถึงการท่องเที่ยวและบริการ และหนูจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้อย่างไรให้ตอบโจทย์กับตลาดที่สุดค่ะ”

.

.

แรงบันดาลใจจากความสำเร็จในครั้งนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่โอกาสต่อยอดต่าง ๆ ของแพรวในอนาคต 

.

“จากประสบการณ์ในการทำสครับปากครั้งนี้ทำให้หนูได้ลองผิดลองถูกในแต่ละขั้นตอนเยอะมากค่ะ มันทำให้เราได้เห็นภาพชัดขึ้นว่าถ้าเราจะทำผลิตภัณฑ์สักอย่างหนึ่งขึ้นมาในอนาคตเพื่อขายจริงในตลาด เราควรเริ่มจากอะไร มีขั้นตอนแบบไหนเพื่อให้ตัวผลิตภัณฑ์ออกมาสมบูรณ์ที่สุดค่ะ ที่จริง ถ้าหนูมีเวลามากกว่านี้ มีทรัพยากรมากกว่านี้ หนูก็อยากทดลองทำสครับปากด้วยวิธีการที่จริงจังมากขึ้น หนูอยากลองใช้วิธีสกัดน้ำจากมันฝรั่งดูเพื่อให้ได้น้ำที่บริสุทธิ์มากขึ้นค่ะ หนูรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการสร้างสินค้าและธุรกิจขึ้นมา ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตก็อยากจะลองทำเป็นแบรนด์สินค้าด้านสุขภาพและความงามของตัวเองออกมาขายโดยคงคอนเซปต์ของความ organic ไว้เหมือนเดิมเพื่อให้ตอบโจทย์กับตัวเองที่แพ้สารเคมีง่ายและคนอื่น ๆ ในตลาดด้วยค่ะ แต่ก็คงจะต้องลองผิดลองถูกอีกเยอะเลยค่ะ” 

.

ไม่เพียงแค่ผลงานของแพรวเท่านั้นที่น่าสนใจ ผลงานซึ่งเป็นนวัตกรรมของนักศึกษาคนอื่น ๆ ก็มีเอกลักษณ์ที่น่าดึงดูด สะท้อนความคิดสร้างสรรค์อันอัดแน่น กระบวนการพัฒนาสินค้าที่สามารถใช้งานได้จริง และตอบโจทย์เทรนด์ด้านสุขภาพได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ทางผู้เขียนจะพยายามหาโอกาสหยิบผลงานเหล่านั้นมาบอกเล่าอีกในอนาคต

DTC Talk

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ข่าวอื่น ๆ

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ยินดีต้อนรับสู่วิทยาลัยดุสิตธานี​
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ คลิก!

คุณได้เพิ่มคอร์สเรียนแล้ว