สหรัฐอเมริกา อาจเป็นประเทศที่ใครหลาย ๆ คนอาจใฝ่ฝันที่จะได้ไปเยือนสักครั้งในชีวิต และเป็นสถานที่ที่เริ่มต้นและบ่มเพาะความฝันให้กลายเป็นจริง สำหรับ วิน – กวิน สหะศักดิ์มนตรี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยดุสิตธานี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้
“ญาติทางพ่อของวินย้ายไปทำงานที่สหรัฐฯ วินจึงมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยปกติวินก็จะมีโทรคุยกับลูกพี่ลูกน้องที่อยู่ที่นั่น เขาก็เป็นเชฟเหมือนกันแต่ว่าเรียนจบที่นั่น เขาเลยรู้จัก มีคอนเน็กชั่นเพื่อนเชฟหลายคน เขาก็เล่าให้ฟังว่าร้านอาหารที่นั่นหลายแห่งขาดคน กำลังหาคนไปช่วยงานอยู่ จริง ๆ เขาเล่าให้วินฟังเผื่อตอนที่วินเรียนจบแล้วจะอยากไปทำงานที่นู่น อยากให้น้องกลับไปอยู่ด้วย เขาเล่าว่าร้านที่เขาจะแนะนำอยู่ใจกลางเมืองบอสตัน เป็นที่ที่ดีมากแล้วก็ค่อนข้าง exclusive เพื่อนเขาเป็นเชฟใหญ่อยู่ที่นั่น ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด วินก็กำลังเรียนออนไลน์อยู่ เลยคิดไปคิดมาว่าเราเรียนออนไลน์ที่ไหนก็ได้นี่ วินเลยลองไปคุยกับอาจารย์ดูว่าทำได้ไหม ถ้าสมมุติว่าวิชาไหนที่ชนกับเวลาทำงาน เราขออาจารย์ไม่เข้าได้ไหม มาตามดูเทปย้อนหลังได้ไหม แล้ววินก็ถามทางร้านอาหารด้วยว่าเขาจะรับไหมถ้าเกิดเราไปแค่ 3-4 เดือน และอาจจะมีขอไปสอบบ้าง ทั้งทางอาจารย์และทางร้านที่วินจะไปทำก็โอเคทั้งคู่ เพราะเขาเห็นว่าเราตั้งใจอยากไปทำงาน อยากไปหาประสบการณ์จริง ๆ เผื่อเราจะได้ทำงานในอนาคตด้วย”
โอกาสที่วินได้รับไม่ใช่โอกาสที่หาได้ง่าย ๆ จากที่ประเทศไทย หรือแม้แต่ในสหรัฐฯ เองก็ตาม เพราะว่าสถานที่ที่วินได้ไปทำงานคือ Somerset Club ที่บอสตัน เป็นสถานประกอบการประเภท City club ที่มีทั้งร้านอาหารและที่พักสุด exclusive เป็นธุรกิจที่มีประวัติยาวนานและมีแต่สมาชิกเท่านั้นที่สามารถใช้บริการได้ และวินยังได้เรียนรู้งานกับเชฟ Michael J. Shannon เชฟใหญ่ของ Somerset Club ที่ได้รับตำแหน่ง ACF Chef of the Year 2021
“เขาเป็นคนที่เก่งมาก แถมยังใจดีมากด้วยครับ ตอนเขาสัมภาษณ์งานวิน วินไม่รู้สึกเหมือนสัมภาษณ์งานเลยครับ เราคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้องมากกว่า พอสัมภาษณ์เสร็จ เขาให้วินไปเป็นผู้ช่วยของผู้ช่วยเชฟ เรียกได้ว่าเป็นมือขวาของมือขวาอีกที”
ถึงแม้หน้าที่หลักของผู้ช่วยของมือขวาจะเป็นการเตรียมวัตถุดิบ แต่บทบาทนี้บวกกับบทบาทของการเป็นนักศึกษาไม่ใช่เรื่องที่สามารถจัดการได้ง่าย ๆ ภายใน 24 ชั่วโมง
“เอาจริง ๆ วินก็คิดไว้แล้วว่ามันน่าจะหนักมาก เพราะว่าเราต้องเรียนออนไลน์ไปด้วย ทำงานไปด้วย แต่มันเหนื่อยกว่าที่คิดอีก เพราะคลาสเรียนกับเราอยู่คนละ time zone กัน เวลาต่างกันครึ่งวัน เวลาเรียนส่วนใหญ่เป็นบ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็น (ประมาณตี 3 ถึง 6 โมงเช้าที่อเมริกา) ช่วงที่วินไปเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมพอดี ยุ่งทั้งเดือนเลย แถมช่่วงสอบตรงกับวันคริสต์มาสพอดี วินเลยไม่สบายหนักเลยเพราะนอนน้อย แต่ก็ทำให้วินแกร่งขึ้นหลังจากนั้นนะครับ โชคดีที่วินมีญาติ ๆ คอยช่วยทั้งเรื่องยา ทั้งเสื้อผ้ากันหนาว ทั้งที่พักใกล้ที่ทำงานด้วย”
จากโอกาสสู่ประสบการณ์ วินได้ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานจากตัวจริงในสถานที่จริง ในทางกลับกัน วินได้นำความรู้และประสบการณ์จากวิทยาลัยดุสิตธานี สถานศึกษาชั้นนำด้านการโรงแรมและการประกอบอาหารในประเทศไทยจากเครือดุสิตธานี มาเปลี่ยนถ่ายเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
“วินยังไม่เคยทำงานจริง ๆ มาก่อน เลยได้เห็นความแตกต่างระหว่างร้านอาหารจริงกับการเรียนในครัววิทยาลัย ทำงานจริง ๆ มันหนักกว่าเยอะ แถมการทำงานที่นี่มีมาตรฐานสูงมาก วินได้เรียนรู้วิธีการจัดการเวลาที่ดีขึ้น เพราะเรามีสิ่งที่ต้องทำเยอะขึ้น และมีจำนวนคนที่จำกัด วินยังได้ฝึกการ multitasking ทีมเวิร์ค ความรับผิดชอบ และทักษะอีกหลาย ๆ อย่างที่เรียนรู้ไม่ได้ในห้องเรียน พวกเคล็ดลับหรือเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้เจอหน้างานจริง วินยังได้ใช้ความรู้จากห้องเรียนค่อนข้างเต็มที่ เพราะคนที่ทำงานด้วยกันเรียนจบจากโรงเรียนทำอาหาร และที่นั่นใช้พื้นฐานการทำอาหารแบบเดียวกันกับที่วิทยาลัยสอน มันก็คือการเอาวิชาที่เราเรียนไปใช้งานจริง ในสถานที่จริง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากเลยครับ วิทยาลัยก็เตรียมตัวเราดีครับ”
การใช้ชีวิตและการทำงานที่สหรัฐฯ ทำให้วินได้เติบโตทั้งในเชิงชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ก่อนที่จะจบบทความนี้ วินได้ฝากข้อคิดและวิธีการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่สนใจเปิดประสบการณ์ที่ต่างประเทศก่อนที่จะออกบิน
“อย่างแรกเลย คือต้องหาข้อมูลก่อนว่าที่ที่จะไปมีอะไรดีหรือไม่ดีบ้าง มีอะไรที่ควรระวัง วัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างกันอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ และอาจมี culture shock หลาย ๆ อย่างที่เราต้องปรับตัว หรือเมืองใหญ่หลาย ๆ ที่จะมีพื้นที่กึ่ง ๆ สลัมอยู่ มีสารเสพติด มีมีด มีปืน ตรงนี้เราต้องหาข้อมูลดี ๆ ไม่อย่างนั้นอาจสูญเสียทรัพย์สินหรือถึงขั้นชีวิตได้ อีกอย่างที่ต้องเตรียมไว้คือยา เพราะยาหาซื้อยากมาก โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวยิ่งควรพกไปเยอะ ๆ อาจจะต้องเตรียมหาวิธีติดต่อปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรที่เมืองไทยด้วย หากเดินทางในหน้าหนาว ต้องเช็คสภาพอากาศและพกเสื้อกันหนาวไว้ตลอด เรื่องเอกสาร บริบทของวินอาจจะไม่เหมือนคนอื่นนะครับเพราะวินเดินทางไปเยี่ยมญาติบ่อยจึงมีเอกสารพร้อมอยู่แล้ว ถ้าใครจะไปก็ต้องเช็คเรื่องเอกสารให้ละเอียด ทั้งวีซ่า ทั้งสถานที่ทำงาน ส่วนของอื่น ๆ อาจจะไม่ต้องพกของไปเยอะ เราไปซื้อที่นู่นได้
ในด้านการทำงาน อย่ากังวลเยอะครับ เตรียมตัวให้พร้อม อะไรที่ทบทวนได้ก็ทบทวนก่อนไป ถ้าฝึกงานหรือทำงานเชฟ ร้านอาหารหลาย ๆ แห่งก็จะใช้ศัพท์เดียวกับที่เราเรียน ศัพท์เกี่ยวกับขนาดการหั่นจะใช้ค่อนข้างเยอะ มันเป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้กันทั่วโลก มาตรตวงวัดหรือหน่วยอื่น ๆ ก็อาจจะใช้ไม่เหมือนกัน ต้องหาข้อมูลก่อนไปนิดนึง ช่วงแรกอาจจะงง ๆ หน่อย แต่พออยู่ ๆ ไปเราก็จะชินขึ้น ที่สำคัญ เทคนิคที่เรียนจากวิทยาลัยอาจจะไม่เหมือนกันกับที่ไปฝึกงานจริง เพราะมันอาจจะมีหลายวิธีที่ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน พยายามไม่ยึดติดกับกรอบเพราะหลายอย่างเราก็ต้องปรับเปลี่ยนอีกเยอะ หรือเราอาจไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ว่าวิธีของเขากับของเรา มีข้อดีข้อเสียอย่างไร อย่าลืม พกความรู้อาหารไทยไปเยอะ ๆ เพราะเขาจะสนใจ ถือว่าได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน”
“เราต้องเป็นน้ำครึ่งแก้วไปให้เขาเติม อาจได้พบวิธีที่ดีกว่าหรือเหมาะกว่าก็ได้ครับ”