Hi

จากวิกฤตหนี้ 20 ล้าน สู่โอกาสการเป็นเจ้าของธุรกิจก่อนวัย 20! “เจน – สมิทธานันท์ ธนาภิวงศ์” กับหมูสะเต๊ะสูตรครอบครัวสู้วิกฤตสู่ความสำเร็จ

11 มีนาคม 2022

รอยยิ้มหวานและแววตาสดใสของ เจน – สมิทธานันท์ ธนาภิวงศ์ ที่ผู้อ่านกำลังเห็นในภาพอาจดูขัดแย้งกับอารมณ์ของชื่อบทความนี้ ทว่า ก่อนที่สาวน้อยเจ้าของธุรกิจหมูสะเต๊ะผู้นี้จะมีรอยยิ้มอย่างในภาพได้ เธอต้องผ่านเรื่องราวที่ท้าทายและหนักหน่วงมาไม่น้อย อาจเรียกได้ว่าท้าทายที่สุดในชีวิตของเธอจนถึงทุกวันนี้เลยก็ว่าได้ 

“ตอนหนูอายุ 18 ที่บ้านโดนโกงไป 20 ล้านค่ะ ซึ่งนั่นเป็นเงินเก็บทั้งหมดที่บ้านของหนูมีค่ะ” 

จากชีวิตของสาวน้อยมัธยมปลายที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ผู้มีความฝันอยากเป็นเจ้าของรีสอร์ตและกำลังจะได้ไปเรียนปริญญาควบที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้พลิกผันสู่บทบาทเจ้าของธุรกิจจำเป็นเพียงชั่วข้ามคืน 

“ที่บ้านหนูมีกันอยู่ 3 คนค่ะ มีคุณแม่ที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หนู แล้วก็พี่ชายอีกคน พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา คุณแม่รู้สึกเสียใจมาก ไม่คิดว่าจะถูกคนใกล้ตัวโกงเงินไป ทั้งคุณแม่และพี่ชายก็รู้สึกท้อและหมดหวังมาก หนูเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง หนูซึ่งในตอนนั้นมั่นใจในตัวเองมากเลยบอกกับทุกคนว่า เดี๋ยวหาเงินมาเลี้ยงทุกคนให้” 

เจนในวัย 18 ผู้ยังไม่เคยได้ทดลองทำธุรกิจจริง แต่ยืนหยัดขึ้นมาเพื่อจะพลิกวิกฤตของบ้าน คงจะไม่ได้ยืนอยู่ตรงนี้หากปราศจากความเชื่อมั่นอันแรงกล้า 

“ตอนนั้นหนูมั่นใจในตัวเองมากค่ะ คิดว่าตัวเองฉลาด เพราะหนูเป็นคนตั้งใจเรียนและเรียนดีมากตลอด ทำกิจกรรมเยอะ ประสบความสำเร็จในรั้วโรงเรียนหลาย ๆ เรื่อง เลยทำให้มั่นใจว่า มันเกิดเรื่องแค่นี้เอง คนอื่นที่เขาเจอเรื่องแบบนี้ยังสู้ต่อไปได้เลย ทำไมเราจะสู้ไม่ได้ ตอนนั้นหนูมั่นใจมากเลยเริ่มทำธุรกิจเลย” 



เจนได้แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นธุรกิจที่จะนำมาพลิกวิกฤตของครอบครัวจากสูตรอาหารของครอบครัว

 

“คุณแม่เคยได้สูตรหมูสะเต๊ะจากเมืองตรังเมื่อสมัยที่ยังเปิดร้านอาหารอยู่ นานมากก่อนที่หนูจะเกิดอีกค่ะ ในตอนนั้น คุณแม่เลยเอาสูตรมาปรับแล้วลองทำให้คนที่บ้านกินบ้าง ให้คนที่มาร้านอาหารชิมบ้าง ลูกค้าที่ได้ชิมก็ติดใจ เขาเลยมาขอซื้อเป็นเซ็ตหลาย ๆ เซ็ตแล้วหิ้วไปขายต่อค่ะ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ขายมันจริงจังเพราะกำลังการผลิตของเรามีไม่มาก เลยกลายเป็นแค่ทุนติดตัวของที่บ้าน มีอยู่วันหนึ่ง หลังจากที่บ้านเราเจอเรื่องไม่ดีมา คุณแม่ก็ได้ทำหมูสะเต๊ะสูตรนี้ให้ทุกคนกิน หนูเลยได้ไอเดียว่าเราต้องเอาหมูสะเต๊ะนี้ไปขาย หนูอยากให้ทุกคนรู้ว่าของของหนูมันดีนะ อยากให้หลายคนได้ชิมจริง ๆ” 

ทุกการเริ่มต้นย่อมมีความท้าทายและอุปสรรค เจนเริ่มทดลองขายหมูสะเต๊ะภายใต้ชื่อแบรนด์ “แม่ หมูสะเต๊ะ” ในสถานที่ที่ไม่เคยมีใครขายมาก่อนในตอนนั้น นั่นก็คือโลกออนไลน์ 

“ตอนนั้น การตลาดออนไลน์ยังไม่บูมเหมือนตอนนี้ การขายหมูสะเต๊ะออนไลน์ ขายแบบฟรีเดลิเวอรี่บนเฟสบุ๊ก ยังไม่ค่อยมีใครทำ หนูเลยคิดว่าเราเป็นเจ้าแรก ๆ เราต้องทำได้แน่นอน หนูมั่นใจว่าหนูทำได้ พอเปิดขายครั้งแรก หนูมีการซื้อโฆษณาบนเฟสบุ๊กด้วย ผลตอบรับมันมาเยอะมาก พวกหนูก็ไม่ได้ตั้งรับกันเลยว่าลูกค้าจะมาเยอะขนาดนี้ ข้อผิดพลาดเลยเกิดขึ้นเยอะมาก เสียบหมูไม่ทัน มีปัญหาเรื่องการจัดการเวลาว่าจะทำทันไหม ส่งทันไหม คุณภาพหมูก็ไม่ต่อเนื่องด้วย เพราะช่วงแรก ๆ สูตรยังไม่คงที่ ลูกค้าก็มีติมาบ้าง ในทุก ๆ ครั้งที่มีการออกไปส่ง มีการสั่งซื้อ มันก็จะมีปัญหาสักอย่างมาให้แก้ ทั้งแม่ หนู แล้วก็พี่ชายเลยต้องมานั่งคุยกันทุกครั้งว่าจะแก้ปัญหายังไง จนทุกวันนี้ปัญหามันดีขึ้น เพราะเราคุยหาทางแก้ด้วยกันในครอบครัว” 

แม้ในปัจจุบัน วิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นจะทุเลาลงแล้ว ทว่า วิกฤตเศรษฐกิจและสุขภาพกลับเข้ามาแทนที่ แต่เจนก็ไม่คิดที่จะหยุดฝ่าฝันอุปสรรคเหล่านั้น 

“ส่วนตัวหนูมองว่าวิกฤตนี้เป็นโอกาสให้หนูพัฒนาตัวเองมากขึ้นค่ะ มันทำให้หนูต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ปรับตัวให้เก่งมากขึ้น อดทนให้มากขึ้นด้วยค่ะ หนูคิดว่าถ้าผ่านตรงนี้ไปได้ หนูจะมีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตมากขึ้นเเน่นอนค่ะ” 



ผ่านมาราว 4 ปีแล้วที่ธุรกิจหมูสะเต๊ะของเจนยืนหนึ่งในย่านสมุทรปราการ โดยเฉพาะเรื่องของความพิถีพิถันและคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าติดใจและเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเจน 

“เราจะเลือกใช้เนื้อหมูวัยกลางคน เพราะเนื้อนุ่มกว่าหมูแก่ แต่แน่นกว่าหมูเด็ก ซึ่งเราต้องไปดีลกับที่โรงผลิตตั้งแต่แรกว่าจะเอาแบบนี้ จุดเด่นอีกอย่างก็คือกะทิ เพราะหนูใช้หัวกะทิในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหมักหมู การชุบย่างหมู หรือแม้แต่น้ำจิ้ม เพราะมันจะทำให้หมูนุ่มและหอมมากกว่าเดิม ถ้าลองเอาหมูสะเต๊ะของหนูไปวางทิ้งไว้นาน ๆ หรือเอาเข้าตู้เย็นแล้วเอามาเวฟอีกที หมูก็จะยังนิ่มอยู่ค่ะ ส่วนกระบวนการผลิตจริง ๆ ก็ค่อนข้างซับซ้อนค่ะ เราต้องนวดเนื้อหมูให้กล้ามเนื้อคลายตัว ให้เนื้อเบาตัวและนิ่มลงถึงจะย่างได้ อีกอย่างที่ต่างคือ หมูสะเต๊ะสูตรแทรกมันของร้านหนูจะไม่ใช่หมูที่เป็นเนื้อล้วนแล้วเสียบก้อนมันต่อท้ายไม้ แต่จะเลือกใช้ส่วนของหมูที่มีมันแทรกอยู่ในเนื้อเลย เนื้อจะเด้งมาก เคี้ยวแล้วสู้ฟัน นุ่มหนึบ เป็นซิกเนเจอร์ของร้านหนูเลย ไม่มีที่ไหนทำแบบนี้แน่นอนเพราะต้นทุนสูง แต่คุณภาพต่างกันเยอะมาก ลูกค้าติดใจสูตรนี้มากค่ะ” 



เมื่อถึงคราวที่ธุรกิจหมูสะเต๊ะสามารถประคองครอบครัวของเจนได้แล้ว เธอก็ถึงเวลาที่จะเดินทางตามความฝัน ก่อนที่จะพบกับความฝันครั้งใหม่ที่น่าตื่นเต้นมากขึ้น และเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเธออีกครั้ง 

“ตอนที่หนูซิ่วแล้วกลับมาสอบเข้าอีกรอบ หนูก็ได้ปรึกษากับที่บ้านว่าจะเอายังไงดี แม่หนูก็เลยเสนอชื่อวิทยาลัยดุสิตธานีขึ้นมาเพราะว่าอยู่ใกล้บ้าน แถมหนูถนัดด้านการบริการด้วย และสนใจด้านการโรงแรมตั้งแต่ต้นด้วย หนูเลยสมัครเข้ามาเรียนที่นี่ในสาขาวิชาการจัดการโรงแรม พอเข้ามาเรียนแล้ว หนูก็เพิ่งมารู้ว่าที่นี่มีสาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยวด้วยหนูสนใจเลยไปคุยกับอาจารย์บอล (อาจารย์สมภพ ชาตวนิช) และอาจารย์น้องเล็ก (อาจารย์มณีวรรณ ชาตวนิช) ที่เป็นอาจารย์ประจำสาขาดู หนูชอบมาก เพราะสาขานี้ creative มากและมันเข้ากับตัวหนูที่ชอบคิดตลอดเวลา เลยเลือกย้ายไปเรียนที่สาขานี้ พอได้ไปเรียนแล้ว สาขานี้ช่วยส่งเสริมธุรกิจของหนูมาก ๆ เพราะเขาไม่ได้สอนแค่ความรู้ในปัจจุบัน แต่เขาจะสอนไปจนถึงอนาคตว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เช่น เทรนด์อาหารในอีก 5 ปีข้างหน้า เราก็เริ่มต้องดูว่าถ้าแนวโน้มเป็นอย่างนี้ เราจะออกแบบธุรกิจอย่างไรให้สอดคล้องกับอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งตอนที่หนูทำธุรกิจ หนูก็ไม่เคยได้คิดถึงมุมนี้มาก่อน และที่นี่มีวิชาอื่น ๆ ที่ให้ออกแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับอนาคต ตรงนี้ก็เอามาประยุกต์ใช้กับแม่หมูสะเต๊ะได้เยอะมาก อาจารย์จะปลูกฝังให้เราเป็นนวัตกร ต้องสร้างสรรค์ไอเดีย เพื่อให้ปรับตัวและพลิกแพลงได้ตลอด มันค่อนข้างยากนะคะ แต่หนูรับมันได้เต็มที่และพลิกแพลงมาใช้กับธุรกิจได้เยอะเลย” 

เส้นทางในอนาคตของเจนจะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่มีใครอาจล่วงรู้ได้ การเรียนรู้และการปรับตัวพลิกแพลงตามสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่เจนยึดถือไว้เป็นปัจจุบัน และดำเนินต่อไปยังอนาคต เพื่อครอบครัว และตัวเธอเอง 

DTC Talk

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ข่าวอื่น ๆ

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ยินดีต้อนรับสู่วิทยาลัยดุสิตธานี​
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ คลิก!

คุณได้เพิ่มคอร์สเรียนแล้ว