หากพูดถึงหนังสือที่เชฟเป็นผู้เขียน ทุกคนมักจะนึกถึงหนังสือตำราอาหาร หนังสือประวัติศาสตร์อาหาร หรือหนังสือแนะนำเทคนิคในการทำอาหาร แต่ ‘A chef’s journey’ หนังสือขนาดพกพาหนาเกือบ 200 หน้าที่ อาจารย์วีร์ – วีร์ วงศ์สันติวนิช อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาอาหารตะวันตก วิทยาลัยดุสิตธานี เป็นผู้เขียนขึ้นนี้ได้ฉีกรูปแบบหนังสือเชฟออกไปได้อย่างน่าสนใจ เพราะว่าน้อยครั้งนักที่จะพบหนังสือแนะนำการทำงานและประสบการณ์ในสายอาหารโดยผู้ที่มีประสบการณ์ตรง
“ผมเสียดายครับถ้ามันจะเป็นแค่ความทรงจำของผมคนเดียว” อาจารย์วีร์กล่าว
“ผมเองก็ไม่ใช่ว่าเก่งอะไร แต่ด้วยความที่ประสบการณ์การทำงานของผมใน 5 ประเทศจาก 3 ทวีปมันหายาก ผมเชื่อว่ามันจะมีค่าต่อคนรุ่นหลัง และผมไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้มันแก่และหายไปพร้อมกับตัวผม ผมเลยอยากถ่ายทอดมันออกมาครับ โดยที่ผมเลือกถ่ายทอดสิ่งที่เป็นความประทับใจของผมในแต่ละช่วงชีวิตออกมา พร้อมสอดแทรกความรู้ลงไปครับ”
เชื่อว่าเป็นเรื่องยากสำหรับทุกคนที่จะถอดบทเรียนจากประสบการณ์ 14 ปีอันแสนเข้มข้นใน 5 ประเทศ 3 ทวีป จากทุกบทบาทที่เคยทำ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหาร ให้กลายเป็นตัวอักษรเพียงแค่ไม่เกิน 200 หน้า นั่นจึงทำให้การเดินทางของ ‘A chef’s journey’ ใช้เวลามากถึง 10 ปี
“ผมเริ่มเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเองตั้งแต่ก่อนมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยดุสิตธานีครับ ช่วงนั้นเป็น Gap Year ที่ผมพักจากการทำงาน ผมเลยได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นแรงบันดาลใจและทำให้ผมอยากถ่ายทอดสิ่งที่ผมรู้และผ่านมาในชีวิตไปให้เด็ก ๆ ที่สนใจสายงานเกี่ยวกับอาหารครับ ช่วงแรก ๆ ผมเขียนเป็นแค่บทความก่อนแต่ก็เริ่มรู้สึกว่าไหน ๆ จะเขียนแล้วก็ทำเป็นหนังสือไปเลยก็แล้วกัน พอได้เริ่มงานเป็นอาจารย์์ที่วิทยาลัยดุสิตธานีเท่านั้นแหละ ผมก็มีเวลาในการเขียนและเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้น้อยลง ในทางกลับกัน ผมกลับมีเนื้อหาที่อยากเขียนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยความที่ผมอยากให้น้อง ๆ ที่ยังไม่ขึ้นระดับอุดมศึกษาและสนใจที่จะเรียนต่อด้านอาหารได้ทำความรู้จักกับวงการนี้จริง ๆ ก่อนตัดสินใจเลือกเรียนเพื่อเป็นอาชีพ ผมจึงพยายามดึงเรื่องราวและความรู้ที่ใช้ในการทำงานจริง กลั่นจากประสบการณ์จริงของผมมาเล่าตามลำดับเวลา รวมถึงผมพยายามดึงแง่มุมที่หลากหลายตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นเชฟลูกมือไปจนถึงเป็นระดับผู้บริหารมาเผยให้ได้เห็นว่าเส้นทางของการเรียนสายอาหารสามารถไปทางไหนได้บ้าง มีอะไรที่มากกว่าการลงมือทำอาหารบ้าง สิ่งใดที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อให้ประสบความสำเร็จในอนาคต เรียกได้ว่าการได้ทำงานที่นี่ทำให้ผมหาตอนจบของหนังสือเจอครับ”
หนึ่งในสิ่งที่อาจารย์วีร์ได้กลั่นกรองและบรรจุลงในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ก็คือคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเชฟทุกคน ซึ่งสิ่งแรกที่อาจารย์วีร์ได้ระบุไว้ก็คือ “อดทน แข็งแกร่ง”
“งานเชฟเป็นงานที่หนัก มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานในที่ร้อน ๆ ต้องยกของหนัก ต้องจับของร้อน ต้องยืนทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน กินอาหารก็ไม่ได้ตรงตามเวลาเหมือนคนทั่วไป บางครั้งก็เลิกงานดึก ๆ ดื่น ๆ หนักเข้าหน่อยก็ลากยาวไปจนถึงเช้า นี่ยังไม่รวมความกดดันในการทำงานที่จะมีเข้ามาอีก การจะฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ไปจนประสบความสำเร็จได้ก็จำเป็นต้องมีร่างกายที่แข็งแรงอยู่คู่กับจิตใจที่แข็งแกร่งครับ”
จากนักเรียนเชฟรุ่นแรกของวิทยาลัยดุสิตธานีมาสู่อาจารย์ผู้สอนเชฟในปัจจุบัน อาจารย์วีร์ได้คลุกคลีอยู่ในวงการอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยตลอด หลายคนอาจจะคิดว่าเขาเลือกเดินออกจากการเป็นผู้ทำสู่การเป็นผู้ถ่ายทอดเพราะแพสชันของเขานั้นอิ่มตัวแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าต้นทางอาชีพเชฟของอาจารย์วีร์ไม่ได้เริ่มต้นที่แพสชัน และกลับกลายเป็นว่ามาค้นพบแพสชัน ณ ปลายทางของอาชีพเชฟของเขาต่างหาก
“ตอนนี้ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเชฟแล้วนะครับ เพราะสำหรับผมแล้ว เชฟคือคนที่ทำอาหารให้ลูกค้าได้กิน แต่ทุกวันนี้ผมทำอาหารเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ผมจึงมองว่าตัวเองเป็นครูครับ ตอนที่ผมเลือกเรียนต่อ อาชีพเชฟไม่ใช่อาชีพที่ผมรู้จักด้วยซ้ำ แต่มีผู้ใหญ่บอกว่าเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการครัวและภัตตาคาร ที่วิทยาลัยดุสิตธานีจบไปมีงานทำแน่นอน ด้วยความที่ผมสอบเอ็นทรานส์ไม่ติดและอยากเรียนเกี่ยวกับบริหารในสาขาที่แปลกกว่าคนอื่นในยุคผม เลยทำให้ผมมาถึงตรงนี้ได้ ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้เป็นคนที่มีแพสชันในการทำอาหารมากขนาดนั้น ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการทำอาหารที่ผมได้ร่ำเรียนจากที่นี่และความชอบเรื่องการบริหารที่มารวมกัน ทำให้เกิดเป็นอาชีพและโอกาสที่นำพาผมไปในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ตอนนี้แพสชันของผมอยู่ที่การถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการครับ ผมชอบอาชีพนี้ที่สุดเท่าที่ผมเคยทำมาเลย ผมรู้สึกว่าผมมีความสุข มันถูกจริตของเรามากกว่า ทุกวันนี้ผมสอนทั้งครัวและสอนวิชาบริหารไปด้วย เพื่อเตรียมให้นักศึกษาพร้อมสำหรับการเป็นเชฟในอุตสาหกรรมบริการหรือเป็นผู้ประกอบการต่อไป วงการอาหารคือความชำนาญ แพสชันคือการถ่ายทอด เมื่อความชำนาญและความชอบมาประสานกัน นั่นคือความสุขในการดำรงชีวิตของผมครับ”
‘A chef’s journey’ ก็เป็นอีกหนึ่งความสุขที่อาจารย์วีร์ไม่เคยลดละความพยายามในการทำ ไม่ว่าจะใช้ระยะเวลาและสรรพกำลังไปมากแค่ไหน ด้วยความเชื่อว่า “หนังสือสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้”
“มีหนังสือหลายเล่มที่เปลี่ยนชีวิตคนได้ครับ ผมเชื่อว่าถ้ามีเด็ก ๆ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ บางคนอาจจะรู้สึกถูกใจมากและอยากเดินทางสายครัวด้วย บางคนก็อาจจะรู้สึกว่าไม่เหมือนกับที่คิดไว้เลยและมองเห็นว่างานครัวเหมาะกับตัวเองมากกว่าถ้าเป็นงานอดิเรก หรือบางคนที่ไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับงานครัวมากนักก็จะได้เห็นภาพของงานสายนี้มากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ต้องขอขอบคุณผู้ที่ร่วมทำให้หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาได้ ทั้งเจนนี่ (Zhanna Spitsyna) ลูกศิษย์ของผมที่ช่วยทำให้หนังสือมีภาพประกอบสวย ๆ ขอบคุณอาจารย์วีรา (อาจารย์วีรา พาสพัฒนพาณิชย์ อธิการบดีผู้ก่อตั้งวิทยาลัยดุสิตธานี) และอาจารย์ ดร.พิศาล (ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมกิจการครัวไทย วิทยาลัยดุสิตธานี) ที่ช่วยรีวิวหนังสือเล่มนี้ให้กับผม รวมถึงพลอย (ดร.พลอยจรัส ประกัตฐโกมล ผู้จัดการแผนกกิจกรรมการแข่งขันการครัวและวิชาการ วิทยาลัยดุสิตธานี) อ.ปอนด์ (ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการคณาจารย์ วิทยาลัยดุสิตธานี) และโชคชะตา ที่ทำให้ผมได้พบกับสูตรสำเร็จของชีวิตที่มีความสุขของผมครับ”
สำหรับ ‘A chef’s journey’ ก็เปรียบเสมือนมรดกอันล้ำค่าของอาจารย์วีร์ที่มอบไว้ให้กับรุ่นถัดไป โดยสามารถหาอ่านได้ที่ D Shop ณ วิทยาลัยดุสิตธานี และช่องทางอื่น ๆ ภายใต้นามปากกา V.A. Vong