Hi

โมเดลธุรกิจแปลก! “อิ่มปัง” ร้านเบเกอรี่ขายส่งย่านพานทอง ให้ตัวแทนรับขนมไปขายก่อน ค่อยจ่ายต้นทุนทีหลัง

29 กันยายน 2023

ขนมปังและเบเกอรี่ต่าง ๆ เป็นสินค้าที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด โดยส่วนมากแล้ว พ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าเหล่านี้จะไม่ได้เป็นคนผลิตขนมขึ้นมาเอง แต่จะไปซื้อมาจากโรงงานที่ผลิตในปริมาณมากแล้วนำมาขายต่อ โดยที่พวกเขาก็ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะเสียต้นทุนสำหรับต่อยอดธุรกิจไปหากขายขนมได้ไม่หมด ที่ ‘อิ่มปัง’ มองเห็นถึงปัญหานี้จึงได้ออกแบบโมเดลการขายส่งในรูปแบบที่แตกต่าง โดยให้พ่อค้าแม่ค้าที่เพิ่งเริ่มต้นกับ ‘อิ่มปัง’ ในครั้งแรกและไม่มีเงินทุนเปิดรับออเดอร์ก่อนมารับขนมไปขาย ค่อยมาจ่ายค่าต้นทุนทีหลัง 

ก่อนที่เราจะพูดถึงแนวคิดในการทำธุรกิจของร้านนี้ เรามาทำความรู้จักกับจุดเริ่มต้นของ ‘อิ่มปัง’ กันก่อน ผู้ก่อตั้งธุรกิจนี้คือ 2 อดีตเชฟจากโรงแรมชื่อดังในย่านพัทยา คุณน็อต – บดินทร์ บุญรอด และคุณเบสท์ – วรรณฤดี โชติกันตะ ที่ต้องการมองหารายได้เสริมหลังเลิกงานจึงได้เริ่มใช้ทักษะการเข้าครัวที่มีทำสินค้าขายเอง 

คุณเบสท์เล่าว่า “ในช่วงแรก ๆ เบทส์ยังไม่ได้เริ่มทำขนมขายนะคะ เบสท์ทำขนมจีบขายก่อน ซึ่งตอนนั้นมีทำส่งให้กับลูกค้าที่เป็นบริษัท catering สำหรับใช้ออกงานอีเว้นต์ต่าง ๆ ก็ทำมาได้สักระยะแล้วมีอยู่วันหนึ่ง ทางลูกค้าได้สอบถามเบสท์มาว่าสามารถทำขนมด้วยได้ไหม เบสท์ก็ตอบเขาไปตามตรงว่าทางเบสท์ทำได้แต่ไม่มีอุปกรณ์ รบกวนให้ทางลูกค้าจ่ายค่ามัดจำก่อนครึ่งหนึ่งเพื่อให้เบสท์ไปซื้ออุปกรณ์มาเริ่มต้น ด้วยความที่เราเคยค้าขายด้วยกันมานาน เขาก็เชื่อใจโอนมาให้เราก่อนตามที่ขอไว้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของขนมสูตรแรกของ ‘อิ่มปัง’ ค่ะ”  

คุณน็อตเล่าต่อว่า “ที่เรียกว่าสูตรแรกก็คือเป็นการทำขนมขายครั้งแรกของเราทั้ง 2 คนจริง ๆ ครับ เพราะที่โรงแรม ผมอยู่ครัวร้อน (โซนอาหารที่ใช้ความร้อนในการปรุง) ส่วนเขาอยู่ครัวเย็น (โซนอาหารที่ไม่ใช้ความร้อนในการปรุง เช่น สลัด) แต่ที่เราสามารถทำขนมออกมาได้เพราะตอนที่พวกเราอยู่โรงแรม พวกเราก็ศึกษาจากเชฟเบเกอรี่ พวกเขาก็ให้คำแนะนำเรา เป็นเหมือนอาจารย์ที่ให้คำปรึกษาเราตลอด แล้วก็เราไม่ได้เริ่มทักษะที่ศูนย์เลยเพราะเราเรียนจบครัวที่วิทยาลัยดุสิตธานีกันทั้งคู่ เลยทำให้พวกเรามีพื้นฐาน มีสูตรที่เราสามารถเอามาผสมผสานกันได้ พื้นฐานตรงนี้สำคัญมากสำหรับพวกเราครับ” 

นอกจากจะเป็นการทำขนมขายครั้งแรกแล้ว ความท้าทายที่ทั้งคู่เผชิญในครั้งนี้คือการผลิตให้ทัน 10,000 กล่องภายใน 1 สัปดาห์ 

คุณน็อตกล่าวว่า “ก็เป็นช่วงที่เหนื่อยพอสมควรเลยครับ ตอนนั้นเราเริ่มเช่าห้องแถวในพัทยาเพื่อทำขนมครับ ในบ้านเราตั้งเป็นโต๊ะไว้วางกล่องขนม เอาเตาอบไปไว้หน้าบ้าน ก็คือทำกันแบบ homemade มาก ๆ เลยครับ นวดแป้งเอง ตีไข่เอง เบสท์เลิกงานเสร็จก็ซื้อวัตถุดิบมาทำต่อ ผมเพิ่งกลับจากอเมริกามาว่าง ๆ พอดีก็มาลุยด้วยกันกับเขาเลย เราก็มาดูเมนูว่าเราจะทำอะไร ก็เลยเริ่มที่ขนมชิฟฟ่อนเค้กมะพร้าวอ่อนครับ แต่เราทำต่างจากคนอื่น คนอื่นทำเป็นทรงสามเหลี่ยมแต่เราทำเป็นทรงสี่เหลี่ยม 4 ชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำแล้วใส่กล่อง 4 ช่อง เรามองว่าดีไซน์ประมาณนี้เป็นอะไรที่ตอบโจทย์กับขนมจัดเบรกเพราะเป็นชิ้นเล็ก ๆ กินง่าย ถ้าลูกค้ากินไม่หมดก็เก็บกลับบ้านได้ แถมยังสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่มครับ” 

คุณเบสท์เล่าต่อว่า “พอออร์เดอร์ใหญ่ครั้งแรกของเราผ่านไป เราก็มีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อย ๆ เลยเริ่มวางแผนที่จะลงทุนขยายทั้งอุปกรณ์และชนิดสินค้า ซื้อเครื่องนวดแป้ง ลงทุนกับวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แล้วช่วงนั้นเรามีขายในตลาดนัดด้วย เปิดแผงด้วย ขายส่งด้วย ลูกค้าก็เริ่มถามว่าหน้าร้านของเราอยู่ไหน ถามกันเยอะมาก เราเลยคุยกันว่าอาจจะต้องเปิดเป็นหน้าร้านเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าพร้อมกับทำให้มีขนมหลากหลายขึ้นด้วย พวกเราเลยเริ่มหาโลเคชั่น แต่ไม่ใช่ที่พัทยานะคะ ไปได้ที่อำเภอพานทอง ชลบุรี ขับรถจากพัทยาไปประมาณ 1 ชั่วโมงค่ะ” 

เบื้องหลังของการตัดสินใจเปิดร้านนอกตัวเมืองพัทยาคือกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช่และขยายฐานลูกค้าเป็นหลัก 

คุณน็อตให้คำตอบสำหรับการเลือกหน้าร้านว่า “หลายคนอาจคิดว่าพัทยาเป็นทำเลที่ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องออกมาตั้งหน้าร้านไกลออกมาขนาดนี้ คำตอบคือพัทยานั้นมีนักท่องเที่ยวเยอะ ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ใช่ฐานลูกค้าของเราครับ ฐานลูกค้าของเราเป็นบริษัทที่ต้องการขนมเบรกกับพ่อค้าแม่ค้าที่รับขนมไปขายต่อ ซึ่งถ้าเจาะไปที่กลุ่มขนมเบรก ส่วนใหญ่พวกเขาจะเข้าไปติดต่อโรงแรมกันครับเพราะแบรนดิ้งของขนมโรงแรมคือดูดีมีคุณภาพ ของของเราใช้วัตถุดิบเกรดใกล้เคียงกับโรงแรม แต่แบรนดิ้งเราสู้เขาไม่ได้ก็ไปต่อไม่ได้ แถวนั้นก็มีคาเฟ่เยอะอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าคู่แข่งก็เยอะตามไปด้วย ถ้าจะทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มนี้ก็ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ซึ่งเรา 2 คนก็แค่คนฐานะปานกลาง ไม่ได้มีงบเยอะขนาดนั้นครับ เราคุยกันด้วยครับว่าเราเข้าใจหัวอกคนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย เพราะผมโตมากับตลาดนัดบ้าน ๆ ได้อยู่กับพ่อค้าแม่ค้าที่นำสินค้ามาขายตลอด พวกเขาต้องกู้เงินมาซื้อของขายบ้าง ขายได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง เป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นอาหารหรือขนมจะลำบากกว่าเพราะถ้าขายไม่หมดก็ต้องทิ้งบ้างแจกบ้าง จากกำไรขายของน้อยอยู่แล้ว ที่นี้อาจติดลบไปอีก อันที่จริง ช่วงแรก ๆ ที่พวกเราเองเพิ่งเริ่มก็มีช่วงที่เหลือเงินกินข้าวแค่ 100 บาทเพราะที่เหลือเก็บเอาไว้ใช้ซื้อวัตถุดิบ เราเลยอยากขายขนมที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือให้พวกเขาในราคาที่เอื้อมถึงได้ แล้วก็อยากทำให้เกิดเป็นอาชีพให้กับพวกเขาได้เหมือนกัน”  

คุณเบสท์อธิบายต่อว่า “เราเลยเลือกทำเลหน้าร้านที่พานทองเพราะอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมกับตลาดค่ะ พ่อค้าแม่ค้าหรือพนักงานโรงงานแถวนั้นจะได้มารับขนมจากเราได้สะดวก หรือพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่พนมสารคาม ปราจีนบุรี หรือพื้นที่รอบ ๆ ก็สามารถมารับของไปขายได้ง่ายค่ะ ด้วยความที่บางคนอาจมีต้นทุนน้อยหรือไม่มีทุนตั้งต้นเลย พวกเราจึงออกแบบโมเดลการขายแบบที่สะดวกลูกค้ารายใหม่ คือใช้วิธีมารับขนมจากเราไปขายเปล่า ๆ เลยตามจำนวนออเดอร์ที่พวกเขาได้มา ยังไม่ต้องจ่ายต้นทุน ส่วนพวกเขาจะเอาไปบวกกำไรเท่าไหร่ก็แล้วแต่ แค่จ่ายทุนคืนให้เราก็พอ แต่เราก็จะมีทำสัญญาด้วยเหมือนกันค่ะว่าเขาจะต้องคืนต้นทุนเราภายในกี่วัน เป็นเหมือนระบบเครดิตให้เขา ก็มีพ่อค้าแม่ค้าสนใจเข้ามารับของของเราเยอะค่ะ หรือพนักงานโรงงานที่ต้องการหารายได้เสริมก็เปิดรับออเดอร์จากเพื่อน ๆ ของเขาแล้วมารับไปขายเหมือนกัน เราก็ดีใจที่ช่วยสร้างโอกาสสร้างรายได้ให้พวกเขาเหมือนกันค่ะ แล้วก็เราพยายามเพิ่มขนมที่หลากหลายให้พ่อค้าแม่ค้าไปขาย เขาจะได้เพิ่มโอกาสทำเงินมากขึ้นด้วย เพราะลูกค้าก็คงไม่ชอบของเดิม ๆ ที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก ถ้ามีตัวเลือกเยอะ ๆ ลูกค้าก็จะซื้อของของพ่อค้าแม่ค้ามากขึ้น เราเลยมีขยายไปทำขนมอีกหลายอย่างเลยค่ะ แต่เราก็จะพยายามพัฒนา ‘อิ่มปัง’ ต่อไป”

ก่อนจบบทความนี้ ผู้เขียนขอทิ้งท้ายด้วยแรงบันดาลใจที่ผู้ก่อตั้ง ‘อิ่มปัง’ ทั้ง 2 คนได้ฝากไว้สำหรับผู้ที่ฝันอยากมีกิจการเป็นของตนเอง

“ถ้าอยากประสบความสำเร็จ อย่ามัวแต่คิด ต้องลงมือทำเลย เพราะการลงมือทำจะทำให้คุณมีประสบการณ์มากขึ้น ได้เจอปัญหาที่เข้ามามากมายให้คุณแก้ และมันจะทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งทุกความท้าทายนั้นจะผ่านไปสักวันอย่างแน่นอน เพียงแค่คุณลงมือทำให้มีประสบการณ์ คุณจะได้รู้ว่าคุณจะเจอปัญหาอะไรและแก้ได้ยังไง ถ้าคิดจะทำอย่างเดียวทุกอย่างก็จะเกิดขึ้นได้แค่ในความคิด”

DTC Talk

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ข่าวอื่น ๆ

17 ธันวาคม 2024

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ยินดีต้อนรับสู่วิทยาลัยดุสิตธานี​
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ คลิก!

คุณได้เพิ่มคอร์สเรียนแล้ว