Hi

ดูหนัง ดูละคร ….แล้วย้อนมา“เที่ยว”กันเถอะ 

08 มกราคม 2025

เรื่องโดย อาจารย์นิศา บูรณภวังค์ อาจารย์ประจำสังกัดศูนย์ภาษา วิทยาลัยดุสิตธานี 

ที่มา: The Bangkok Insight (www.thebangkokinsight.com) 

——————————————————————————

เวลาดูภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ แล้วเคยมีความรู้สึกกันบ้างไหมคะว่า ฉากในหนังนั่นอยู่ที่ไหนนะ อยากไปนั่ง ไปวิ่ง ไปเดินเล่น ไปกินข้าว ตรงที่พระเอก นางเอกเค้าไปกันเสียเหลือเกิน  ถ้าเคยมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น  นั่นแสดงว่า…คุณเริ่มมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สมาคม “เที่ยวตามรอยวรรณกรรม” แล้วละค่ะ 

อันที่จริง การท่องเที่ยวตามรอยวรรณกรรม หรือสามารถเรียกอีกอย่างได้ว่า การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม (Literary Tourism) ไม่ได้เป็นเทรนด์ใหม่อย่างที่เราเข้าใจกันนะ แต่การท่องเที่ยวในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว คำนี้สามารถนิยามได้ว่า หมายถึง การท่องเที่ยวตามรอยบ้านเกิดของนักเขียน หรือสถานที่ในวรรณกรรมต่าง ๆ (ออนไลน์, 2024) วรรณกรรมรุ่นแรก ๆ ที่จุดประกายให้คนอยากออกเดินทาง คือ ชาลส์ ดิกคินส์ (Charles  Dickens) นักเขียนชาวอังกฤษที่สร้างผลงาน มากมายหลายเรื่อง เช่น  โอลิเวอร์ ทวิสต์ (Oliver Twist) แรงใจและไฟฝัน (Great Expectations)  เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมอีกหลายเรื่องที่ ผู้คนนิยมไปตามรอย เช่น แฮร์รี่พอตเตอร์  เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ฯลฯ 

กลับมาที่ในประเทศไทย การท่องเที่ยวตามรอยวรรณกรรมที่มีอิทธิพลมาจากตัวเล่มหนังสือ อาจจะยังดูไม่แพร่หลายเท่ากับอิทธิพลจากภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีส์ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าสื่อบันเทิงประเภทภาพยนตร์มีองค์ประกอบของภาพ สี เสียง ที่ชัดเจนมากกว่า ผูกใจคนดูมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีงานเขียนหลายชิ้นที่กระตุ้นให้คนไทยออกเดินทาง เช่น วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน บทพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทำให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นหมุดหมายของการเดินทาง เพื่อไปดูคุ้มขุนแผน บ้านขุนช้าง หรือ วัดป่าเลย์ไลก์  วรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งคนนิยมเดินทางไปเที่ยว อุทยานลิลิตพระลอในจังหวัดแพร่   

หากเป็นวรรณกรรมรุ่นใหม่หน่อย ก็ต้องยกให้ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส หรือพรหมลิขิต นักท่องเที่ยวตามรอยคนไหน ไม่ได้ไปเดินสะบัดสไบถ่ายรูปที่อยุธยาถือว่า “เอ๊าท์” ขั้นสุด นอกจากนี้ ยังมีวรรณกรรมอีกหลายเรื่อง เช่น กรงกรรม ของ จุฬามณี ที่ทำเอา อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว ล่าสุดก็คงจะเป็นเรื่อง หมอหลวง ที่ทำให้วัดประยุรวงศาวาส กลายเป็นวัดที่ทุกคนอยากไปเยี่ยมชม ชื่อของหมอบรัดเลย์ กลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่ปรากฏอยู่แค่ในบทเรียนประวัติศาสตร์ 

ข้อดีของกระแสการท่องเที่ยวตามรอยวรรณกรรม คือ กระตุ้นให้รัฐบาลแต่ละประเทศเห็นความสำคัญของสถานที่ต่าง ๆ หันมาอนุรักษ์และพัฒนาสถานที่เหล่านี้ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น หลายประเทศขยายผลไปถึงการจัดทริปเที่ยว ในรูปแบบของทัวร์ ซึ่งวิทยาลัยดุสิตธานีของเราก็เล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้ด้วย จึงมีการเปิดวิชา การท่องเที่ยวตามรอยวรรณกรรม ขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมบริการในอนาคต ผู้เขียนสรุปเองอย่างง่าย ๆ ว่า การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและควรได้รับการสนับสนุน แต่พลังของตัววรรณกรรมจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนออกเดินทางตามรอยไม่ได้ ถ้าไม่มีคนอ่าน หรือไม่มี “วัฒนธรรมการอ่าน” ที่แข็งแกร่งพอ รวมไปถึงอ่านแล้วไม่สามารถคิดวิเคราะห์สิ่งที่ได้รับผ่านตัวภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงต่าง ๆ ได้  

ดังนั้น มาเริ่มต้น “อ่าน” เพื่อช่วยกันทำสังคมรอบตัวให้กลายเป็นสังคมแห่งการอ่านกันเถอะค่ะ 

อ้างอิง 

Okmdknowledgeportal. (2024).  พลังแห่งตัวหนังสือ ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม. สืบค้นเมื่อ 

 27 ธันวาคม 2524, จาก https://knowledgeportal.okmd.or.th/article/659fc26fbba95  

The Common. (2023). เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง. สืบค้นเมื่อ 

 26 ธันวาคม 2024, จาก https://www.thekommon.co/literary-tourism-explore-the-world/ 

Indiaoutbound. (2023).  Literary tourism market to grow to USD 2.96 billion by 2032.  

สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2024, จาก https://indiaoutbound.info/trade-news/literary-tourism. 

บทความ

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ข่าวอื่น ๆ

09 มกราคม 2025

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ยินดีต้อนรับสู่วิทยาลัยดุสิตธานี​
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ คลิก!

คุณได้เพิ่มคอร์สเรียนแล้ว