เป็นเรื่องปกติของชุมชนที่มีความเป็นนานาชาติในการพบเจอกับความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรม วิทยาลัยดุสิตธานี ซึ่งมีพันธกิจหลักคือมุ่งเน้นความเป็นนานาชาติ ความยั่งยืน การบูรณาการ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงส่งเสริมการเปิดรับทุกความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา นี่คือเสียงของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ซันนี่ – มูซามิล มาจีด ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร ที่มีความภูมิใจในการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความหลากหลายในวิทยาลัยในฐานะชาวมุสลิมและแรงบันดาลใจในการเรียนครัว
“ผมรักการทำอาหารตั้งแต่ผมยังเด็กครับ” ซันนี่กล่าวด้วยแววตาที่มุ่งมั่น
“มันเริ่มจากความชอบกินของผมและการที่ผมได้ไปคลุกคลีอยู่ในครัวกับพ่อแม่บ่อย ๆ ครอบครัวฝั่งปากีสถานของผมค่อนข้างจะทำอาหารเยอะ เขาใช้วัตถุดิบ เครื่องเทศ เนื้อสัตว์ และเทคนิคการทำอาหารที่หลากหลาย ซึ่งทำให้ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจมากและเกิดเป็นความสนใจในอาหารครับ หลังจากนั้น ผมก็พยายามฝึกทำอาหารหลากหลายชนิด ทั้งอาหารปากีสถาน อาหารไทย หรือแม้แต่อาหารอินเดีย จนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมเริ่มทำเมนูเดิม ๆ แล้ว ผมอยากเรียนรู้การทำอาหารที่หลากหลายขึ้นอีกเลยอยากจะเดินตามความฝันนี้ครับ”
อันที่จริงแล้ว ความฝันในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอาหารนั้นเป็นเพียงอีกเส้นทางหนึ่งของซันนี่ เส้นทางแรกที่ทั้งเขาและคุณพ่อได้มองไว้คือการบริหารจัดการธุรกิจ
“ผมเคยคิดไว้ว่าอาหารนั้นเป็นได้เพียงแค่แพสชัน ไม่ใช่การศึกษาแบบจริงจัง และด้วยความที่ผมเป็นผู้รับช่วงต่อธุรกิจของคุณพ่อ เขาจึงอาจจะเลือกให้ผมได้เรียนเกี่ยวกับการตลาดหรือการบริหารธุรกิจมากกว่า ซึ่งก็เป็นสาขาที่ผมสนใจเช่นกัน จนกระทั่งผมได้ขึ้น ม.4 พ่อแม่ของเพื่อนหลาย ๆ คนก็จะเข้ามาถามผมว่าเรียนจบแล้วจะไปต่อที่ไหน ผมจึงได้เริ่มค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะและสาขาที่ผมสนใจในอินเตอร์เน็ต ผมเลยได้พบว่าวิทยาลัยดุสิตธานีมีหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำอาหารด้วย หลักสูตรนึ้จึงเป็นทางออกที่ win-win ทั้งกับคุณพ่อและกับผมเป็นอย่างมากครับ
ซันนี่ได้ก้าวเข้ามาสู่การเรียนในสาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหารอย่างกล้าหาญและเต็มไปด้วยไฟในการเรียนรู้ ก่อนที่จะได้พบกับประเด็นใหญ่เรื่องฮาลาล
“ตอนที่ผมได้เริ่มเข้าคลาสปฏิบัติคลาสแรก ๆ ผมตกใจมากที่ในตะกร้าวัตถุดิบของผมมีหมูอยู่ ผมจึงไปบอกอาจารย์ว่าผมนับถือศาสนาอิสลาม เขาจึงเอาหมูออกจากตะกร้าให้ แต่นั่นไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมสำหรับผมที่เป็นคนเคร่งศาสนาครับเพราะในตะกร้านั้นก็จะมีน้ำหมูหลงเหลืออยู่ ซึ่งนั่นถือว่าเป็นการฮารามครับ (เป็นการทำผิดหลักการทางศาสนาอิสลามอย่างร้ายแรง) โชคดีที่ผมรู้จักรุ่นพี่ที่เป็นมุสลิมเหมือนกันคนหนึ่ง เขาชื่อ อับดุลร่อซ้าก อาแด เขาบอกว่าก่อนหน้านี้เคยมีนักศึกษามุสลิมที่เข้ามาเรียนแล้วไม่ได้เคร่งขนาดนั้น อาจารย์เลยอาจคิดว่าผมก็ไม่ซีเรียสเหมือนกัน พี่ร่อซ้ากก็ได้แนะนำเพิ่มเติมว่าให้ผมคุยกับอาจารย์ตรง ๆ เลยว่าผมเป็นคนเคร่งนะ ต้องเตรียมวัตถุดิบอย่างไร ซึ่งมันก็ได้ผลครับ อาจารย์ก็เข้าใจในเงื่อนไขของศาสนาของผมและเตรียมวัตถุดิบตามหลักฮาลาลตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาครับ”
หลังจากที่ซันนี่ได้รับความช่วยเหลือในเหตุการณ์นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาในความคิดของเขาก็คือการช่วยเหลือนักศึกษามุสลิมคนอื่น ๆ ไม่ให้เจอกับสถานการณ์เดียวกันด้วยการเปิดกลุ่มชุมชนคนมุสลิมในพื้นที่ออนไลน์
“หลังจากที่ผมอยู่ที่วิทยาลัยฯ มาสักพักหนึ่ง ผมเริ่มได้เจอเพื่อนมุสลิมรุ่นเดียวกันมากขึ้น ผมก็เลยสร้างกลุ่มไลน์ไว้สำหรับรวมทุกคนให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพูดคุยกันครับ ตอนนี้ ผมอยู่ปี 4 แล้ว ผมสังเกตได้ว่ามีรุ่นน้องที่เป็นมุสลิมเหมือนกันเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมเลยรู้สึกกังวลว่าพวกเขาจะเจอปัญหาแบบเดียวกันกับที่ผมเจอ ดังนั้น ผม น้องสาวของผม อะฟิฟ่า มาจีด แล้วก็เพื่อนของผมเลยตัดสินใจขยายชุมชนของเราให้ใหญ่ขึ้น จากแค่เป็นกลุ่มศาสนิกของรุ่นเป็นกลุ่มของทั้งวิทยาลัย ตอนนี้ในกลุ่มไลน์ของเรามีสมาชิกมากกว่า 40 คนแล้วครับ ซึ่งมีทั้งศิษย์ปัจจุบันทุกรุ่นและศิษย์เก่าของวิทยาลัยฯ ไม่ใช่ว่าพวกผมอยากจะขีดเส้นแบ่งระหว่างคนมุสลิมกับคนอื่น ๆ นะครับ พวกผมก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเพื่อนชาวพุทธ ชาวคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ เหมือนกันครับ แต่ชุมชนนี้พวกผมตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้คนที่เข้าใจกันอย่างลึกซึ้งและนับถือในศาสดาองค์เดียวกันมาร่วมแบ่งปันเพื่อช่วยเหลือกันครับ ตอนนี้ผมพยายามทำให้กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักก่อนที่ผมจะเรียนจบเพื่อเป็นการบอกน้อง ๆ มัธยมที่เป็นมุสลิมว่า ถ้าอยากจะเดินตามความฝันที่วิทยาลัยดุสิตธานี น้อง ๆ จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวนะเพราะที่นี่มีพวกเราอยู่”
ด้วยความที่ผู้เขียนไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม คำถามที่ผู้เขียนรู้สึกสงสัยและต้องการคำตอบจากซันนี่มากที่สุดคือ ‘ทำไมชาวมุสลิมถึงคิดว่าพวกเขาโดดเดี่ยวล่ะ?’ คำตอบที่ได้นั้นทำให้รู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมาก
“ผมคิดว่าไม่ใช่คนมุสลิมทุกคนที่จะรู้สึกสะดวกใจเวลาอยู่กับคนอื่นครับ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขามองคนอื่นว่าแตกต่างนะครับ แต่พวกเขามองตัวเองว่าแตกต่างจากคนอื่น ผมเติบโตในโรงเรียนนานาชาติซึ่งเป็นที่ที่ทำให้ผมได้พบเจอกับเด็ก ๆ จากหลายเชื้อชาติและศาสนา นั่นทำให้ผมเหมือนได้สร้างทักษะการเข้าสังคมขั้นพื้นฐานครับ ไม่กลัวที่จะเข้าไปหาคนที่ไม่เหมือนกับเรา แต่สำหรับคนที่เขาโตมาในสังคมชาวมุสลิมที่เคร่งมาก ๆ พวกเขาจะทำตัวไม่ถูกเวลาจะเข้าหาคนอื่นหรือหาเรื่องคุยกับคนอื่นเพราะพวกเขาจะมีความประหม่า โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ต้องใส่ผ้าฮิญาบคลุมหัวอยู่ตลอด พวกเขาจะรู้สึกว่าพวกเขาแตกต่าง ทั้งที่จริงแล้ว สังคมไทยก็ไม่ได้เหยียดกันขนาดนั้นและเปิดกว้างมากพอที่จะให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ด้วยความที่ผมมาจากศาสนาเดียวกันกับพวกเขา ผมอยากจะสร้างพื้นที่ที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะพูดสิ่งที่คิดออกมาและสร้างความกล้าที่จะเข้าสังคม พวกเขาจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในความรู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป”
ไม่ว่าอะไรก็ตามจะเข้ามากระทบกับความรู้สึกของซันนี่ แต่เขายังคงเชื่อมั่นที่จะเดินตามแพสชันของเขามากกว่าการหลบอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง เขาหวังว่าข้อความนี้จะช่วยให้ผู้คนรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นด้วย
“ผมภูมิใจที่เป็นมุสลิมครับ ผมไม่ปล่อยให้อะไรก็ตามที่มาขวางทางของผมเป็นอุปสรรคสู่เป้าหมายของผมครับ มีประโยคหนึ่งที่ผมใช้สำหรับกระตุ้นตัวเองเวลาที่ผมรู้สึกเฟลครับ นั่นคือ ‘สาเหตุที่ทำให้ผู้คนเผชิญหน้ากับความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จนั่นก็คือพวกเขายอมแลกสิ่งที่ต้องการมากที่สุดในชีวิตกับสิ่งที่ต้องการตอนนี้’ มันทำให้ผมเตือนตัวเองได้ว่าผมต้องการอะไรมากที่สุดและขับเคลื่อนผมไปข้างหน้าต่อได้ ถ้าคนที่ทำสิ่งนั้นไม่ใช่ผม แล้วใครจะเป็นคนทำ ถ้าเวลาที่ทำสิ่งนั้นไม่ใช่ตอนนี้ แล้วเมื่อไหร่จะถึงเวลาทำ นั่นทำให้ผมสนใจแต่สิ่งที่เป็นแพสชันของผมและคนที่แบ่งปันพลังบวกกับผมเท่านั้นครับ”
การอาศัยอยู่ท่ามกลางความหลากหลายนั้นอาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยและยากลำบาก แต่มันคุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะคุณจะได้เปิดมุมมองและพบกับโอกาสใหม่ ๆ ในโลกที่ทุกอย่างเชื่อมถึงกันแล้ว