เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เรียนจบกันมามักจะมีโมเมนต์คิดถึงสถาบันของตน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาอันแสนสนุกในรั้วสถานศึกษาหรือวีรกรรมเด็ดกับเพื่อนร่วมแก๊ง ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเราต้องหาโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนถิ่นเก่า ทักทายอาจารย์ที่รักสักหน่อย สำหรับ ปัน – ปัณณธร วิศวธน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร และศิษย์เก่าโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ก็เป็นหนึ่งในคนที่ระลึกถึงความหลังที่ถิ่นเดิมของเขา แต่การกลับไปของเขาในครั้งนี้ไม่ใช่พกไปแค่ตัวและหัวใจที่โหยหา แต่พาความรู้และทักษะจากวิทยาลัยดุสิตธานีกลับไปแบ่งปันให้อาจารย์และรุ่นน้องได้เรียนรู้กัน
“ผมและเพื่อน ๆ ชมรม DTC Fund Club ไปสอนงานบาร์ งานครัว การทำอาหารรูปแบบตะวันตก และวิธีทำม็อกเทลให้กับอาจารย์และน้อง ๆ ที่โรงเรียนเก่าครับ เป็นโครงการที่ไปในนามของวิทยาลัยฯ เพื่อแบ่งปันความรู้จากวิทยาลัยฯ ครับ” ปันตอบ
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ ปันได้แบ่งปันให้ฟังว่าเป็นโครงการที่เขาผลักดันเพื่อต้องการสร้างประโยชน์ให้กับทุกคน
“ที่จริงแล้ว ผมไม่ได้เป็นคนริเริ่มโครงการนี้เองนะครับ มีรุ่นพี่ของผมที่วิทยาลัยฯ เขาเคยเล่าถึงไอเดียของโครงการนี้ ผมว่ามันก็น่าสนใจ พอดีกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมต้องคิดไอเดียกิจกรรมของชมรม DTC Fund Club ที่ผมสังกัดอยู่ด้วยซึ่งผมตั้งโกลไว้แต่แรกแล้วว่าโครงการที่จะทำไม่ควรจะเป็นแค่การมอบของให้กับชุมชนเพราะมันไม่ยั่งยืน ไม่สามารถต่อยอดได้ ผมเลยรู้สึกว่าการมอบความรู้นี่แหละน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ผมเลยทำเรื่องยื่นเสนอชมรมว่าผมต้องการจะทำโครงการนี้ ทางชมรมก็สนใจเลยช่วยสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้จริงครับ”
หลังจากได้รับการสนับสนุนจากชมรม ปันจึงได้รับหน้าที่เหมือนเป็นคนที่ต้องมองภาพรวมตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนออกไปสอนจนถึงการจัดการหลังสอนเสร็จ
“การไปสอนหนึ่งครั้งต้องเตรียมตัวหลายเรื่องมากครับ ก่อนที่พวกเราจะออกไปสอนที่โรงเรียน ผมต้องติดต่อกับทางโรงเรียนก่อนว่าสะดวกให้พวกเราเข้าไปสอนวันไหน อาจารย์ท่านใดเป็นผู้ประสานหลัก ต้องแจ้งทางโรงเรียนว่ามีข้อจำกัดด้านใดบ้าง พวกเราจะพกอุปกรณ์อะไรไปบ้าง ทางโรงเรียนต้องเตรียมอะไรให้บ้าง ต้องทำหนังสือยื่นไปให้ทางโรงเรียนอนุมัติ ไม่ใช่แค่ฝั่งโรงเรียนนะครับ ทางฝั่งวิทยาลัยฯ พวกเราก็ต้องทำเรื่องเบิกงบเพื่อไปซื้อวัตถุดิบ ต้องจองรถตู้ที่จะพาพวกเราไปสอน การออกไปสอนของเราสามารถใช้เก็บเป็นชั่วโมงกิจกรรมได้ครับ หลังจากไปสอนเสร็จ ผมต้องไปล่าลายเซ็นให้อนุมัติเป็นชั่วโมงกิจกรรมด้วยครับ”
“มีสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าผมได้เรียนรู้เยอะมากจากการทำกิจกรรมนี้เลยคือเรื่องของการทำงานเป็นทีมครับ ช่วงแรก ๆ ที่พวกเราเริ่มออกไปสอน มันมีหลายอย่างที่เรายังสื่อสารกันไม่มากพอเลยเกิดข้อผิดพลาดขึ้น หรือบางครั้งผมก็เอาความคิดของตัวเองเป็นหลักมากเกินไปทำให้ทีมรู้สึกไม่โอเค การได้ออกมาทำโครงการพี่สอนน้องในครั้งนี้จึงเหมือนเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผมมองเห็นจุดอ่อนของตัวเองสำหรับพัฒนาตัวเองต่อไปและฝึกการทำงานเป็นทีมมากขึ้นครับ”
ถึงแม้จะพบกับอุปสรรคและความยุ่งยากมากมาย ปันก็ยังคงมองเห็นผลประโยชน์ของการทำกิจกรรมพี่สอนน้องนี้เป็นหลัก
“อย่างแรกเลยครับ ผมมองว่ากิจกรรมนี้ผมทำเพื่อให้ความรู้กับน้อง ๆ ที่โรงเรียนเก่าและครูบาอาจารย์ที่เคยสั่งสอนผมมา ดังนั้นประโยชน์มันเกิดที่ตัวผู้เรียนก่อนเลยครับ อย่างที่สองคือผมทำในสิ่งที่ผมรักครับ การที่ผมได้อยู่กับการผสมเครื่องดื่ม การสร้างสรรค์เมนู การทำงานเบื้องหลังเป็นสิ่งที่ผมทำแล้วไม่รู้สึกเบื่อเลยครับ แล้วก็งานประเภทนี้ยิ่งทำเยอะยิ่งได้ประสบการณ์เยอะ ผมเลยมองว่าการไปสอนแต่ละครั้งเป็นการฝึกฝีมือให้ตัวเองทำงานบาร์งานครัวได้ดีขึ้นและเชี่ยวชาญขึ้น มีอีกจุดหนึ่งที่เป็นข้อได้เปรียบในการทำกิจกรรมนี้ด้วยครับ นั่นก็คือผมจะได้ฝึกทักษะการสอนและการสื่อสารครับ เพราะในแต่ละครั้งที่ออกไปสอน ผมต้องประสานงาน ผมต้องอธิบายขั้นตอนการทำ เด็กแต่ละคนก็มีพื้นฐานงานพวกนี้ไม่เท่ากันด้วย มันทำให้ผมได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารและการถ่ายทอดความรู้ที่เข้าใจง่าย มีประสิทธิภาพ และหลากหลายขึ้นครับ”
การกลับไปที่โรงเรียนเก่าของปันในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการมอบประสบการณ์ที่มากกว่าการคลายความคิดถึง เขาทั้งได้พัฒนาตนเอง แบ่งปันความรู้ในศาสตร์และศิลป์ที่ตนรัก และได้ส่งมอบทักษะอันจะเป็นแรงบันดาลใจและสร้างโอกาสให้กับรุ่นน้องต่อไปในอนาคต รวมทั้ง โครงการนี้ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่โรงเรียนเก่าของเขา มันได้เป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบในการทำกิจกรรมกับโรงเรียนเซนต์โยเซฟ บางนา และโรงเรียนอื่น ๆ อีกหลายแห่งในอนาคต เรียกได้ว่าปันได้เริ่มต้นโครงการที่สามารถต่อยอดอย่างยั่งยืนได้โดยแท้จริง