Hi

“โต๊ะสะเบื๊อก….. เมนูใจฟู” 

14 มิถุนายน 2024

เรื่องโดย อาจารย์นิศา บูรณภวังค์ อาจารย์สังกัดศูนย์ภาษา วิทยาลัยดุสิตธานี 

ที่มา: The Bangkok Insight (www.thebangkokinsight.com) 

——————————————————————————

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า? ที่เมื่อเดินทางไปแห่งหนตำบลไหน จะไม่พลาดการรับประทานอาหารพื้นถิ่นของคนในท้องที่ด้วยเพราะหน้าตา รสชาติของอาหารในแต่ละภูมิภาค มักมีเสน่ห์ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเป็นทุนเดิมเสมอ แต่ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว อาหารท้องถิ่นมิใช่มีแค่เพียงความอร่อยที่ไม่คุ้นลิ้นเท่านั้นที่ แต่อาหารยังสื่อถึงอะไรได้มากกว่านั้น อาหารท้องถิ่นจึงไม่ใช่เป็น “แค่อาหาร” แต่กลายเป็นการสื่อสารทางวัฒนธรรมที่บอกให้เราทราบถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม การดำเนินชีวิตและอะไรอีกหลายประการ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้จากที่ต่างๆ เหล่านี้สำคัญมากสำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยดุสิตธานี เพราะเป็นเสมือนคลังความรู้ไว้ถ่ายทอดต่อให้แก่นักศึกษา   

ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปนอนที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โชคดีมากที่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าของโฮมสเตย์ว่าให้หารถท้องถิ่นเช่าขึ้นไปหมู่บ้านละอูบ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อยออกไปถึง 32 กิโลเมตร จนแทบจะถึงอำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่อยู่แล้ว เดิมมีชื่อว่า โมซัมเบรียง ซึ่งแปลว่า ภูเขาโมซัมเบรียงชาวบ้านที่นี่เป็นชาวละเวื้อะ (ลั๊วะ หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อของละว้า) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวละเวื้อะที่นี่…มีวิถีวัฒนธรรมต่างไปจากชาวไทยภูเขาเผ่าอื่น เช่น การสร้างที่อยู่อาศัย การแต่งกาย ประเพณี และพิธีกรรม ใช้วิถีชีวิตเรียบง่าย ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่ดีที่สุดในแม่ฮ่องสอน มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่น ได้แก่ ผ้าทอละว้า และกาแฟ  

ส่วนใหญ่แล้วคนที่ได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านละอูบจะไม่พลาดการชิมกาแฟสดคั่วบดที่เราอาจเคยได้ยินในชื่อว่า “กาแฟห้วยห้อม” และสิ่งที่ผู้เขียนขาดไม่ได้คือการไปร่วมรับประทานอาหารกับชาวบ้าน อาหารต่าง ๆ จะถูกจัดใส่จานมาให้พวกเรานั่งล้อมวงร่วมรับประทานในบ้านกับพวกเขาเลย ความสนใจของผู้เขียนพุ่งไปที่อาหารจานหนึ่งที่หน้าตาก้ำกึ่งระหว่างลาบ กับ หลู้ ได้ยินเจ้าของบ้านแนะนำครั้งแรกก็แทบจะออกเสียงไม่ถูกเลยทีเดียว ใช่ค่ะ….มันคือ…“โต๊ะสะเบื๊อก” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “สะเบื๊อก” โต๊ะสะเบือก เป็นภาษาละเวื้อะ “โต๊ะ” หมายถึง เนื้อหมู “สะเบื๊อก” หมายถึงยำ พอแปลรวมกันก็จะหมายถึง ยำเนื้อหมู นั่นเอง อาหารจานนี้เป็นอาหารรับแขกค่ะ และยังถือว่าเป็นอาหารมงคลชนิดหนึ่งอีกด้วย มักใช้ในงานสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ขึ้นบ้านใหม่ไปจนกระทั่งถึงการไหว้ผีบรรพบุรุษ เจ้าของบ้านเสริมว่าแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นยำเนื้อหมู แต่ก็สามารถใช้เนื้อสัตว์อื่นๆ มาปรุงได้ด้วยเหมือนกัน ส่วนผสมของโต๊ะสะเบือกก็มี เนื้อหมู พริกขี้หนู ตะไคร้ หอมแดง ต้นหอม ผักชี เกลือ วิธีทำคือ นำเนื้อหมู (ส่วนใหญ่จะใช้หมูสามชั้น) ไปต้มในน้ำเปล่าให้สุกทั่วกัน ตักหมูขึ้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พริกขี้หนูโขลกละเอียด ตะไคร้ หอมแดง ผักชี ต้นหอม ซอยละเอียดๆ นำส่วนผสมทั้งหมดใส่รวมกัน ปรุงรสด้วยเกลือ คลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากัน เอามาห่อใส่ใบตองเป็นอันจบกระบวนการ ยิ่งรับประทานคู่กับ “ต้มฮินโหย่ว” ซี่โครงหมูอ่อนที่ปรุงกับใบกระเจี๊ยบ เล่นเอาผู้เขียนรีบเก็บข้าวห่อที่ซื้อไว้เป็นมื้อกลางวันลงเป้แทบไม่ทัน …อร่อยจนลืมขนมปังไส้กรอกที่เตรียมไว้เลยเชียว ก่อนจะกลับเจ้าของบ้านยังใจดีเอาห่อใส่ใบตองให้ผู้เขียนเอากลับลงมากินได้อีกหนึ่งมื้อ 

เคยอ่านงานเขียนอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านกล่าวไว้ว่า “อาหารและการกินเป็นการกำหนดพวก” วินาทีนั้น ผู้เขียนจึงฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า การร่วมรับประทานอาหารกับเจ้าของบ้าน อาจเป็นการสื่อถึงความสัมพันธ์ทางสังคม ที่บอกว่าเราคือใคร และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร เมนูโต๊ะสะเบื๊อก…กลายเป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์กำหนดว่าการกินอาหารร่วมกัน (Commensurate) ซึ่งหมายถึง การยอมรับว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เสมือนเป็นเพื่อน พี่น้องเดียวกันแล้ว……..เมื่อกระจ่างถึงความหมายดังนี้ ความรู้สึกขณะเดินทางกลับลงมาจากหมู่บ้านจึงอิ่มเอมพองฟูมากกว่าความอิ่มท้องที่ได้รับเสียอีก ….. 

บทความ

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ข่าวอื่น ๆ

09 มกราคม 2025

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ยินดีต้อนรับสู่วิทยาลัยดุสิตธานี​
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ คลิก!

คุณได้เพิ่มคอร์สเรียนแล้ว