ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นมาก ด้วยเหตุที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทว่าปัญหาหนึ่งที่กลุ่มประเทศอาเซียนเผชิญอยู่มาเป็นระยะเวลานานก็คือ ส่วนใหญ่ยังถือเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก
ด้วยเหตุนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจึงได้ร่วมกันทำ “ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals: ASEAN MRA on TP: MRA-TP)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ด้วยการยกระดับสมรรถนะและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในประเทศสมาชิกให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และที่สำคัญคือ ต้องมีมาตรฐานในระดับสากล โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเปิดสอนด้านธุรกิจบริการโดยตรงในเครือโรงแรมดุสิตธานี ได้รับความไว้วางใจจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และคู่มือของหน่วยอบรมและหน่วยประเมินของไทย ตลอดจนเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองหน่วยอบรมและหน่วยประเมินบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในโครงการนี้ด้วย
และเมื่อไม่นานมานี้ วิทยาลัยดุสิตธานีได้จัดพิธีเปิดการประเมินบุคลากรด้านการท่องเที่ยวตามมาตรฐานสมรรถนะขั้นพื้นฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ภายใต้ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียนขึ้น ณ ห้องศรีนครินทร์ฮอลล์ วิทยาลัยดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมี นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว เดินทางมาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางพัฒนศิริ ศัลยสิริ อิ้วตกส้าน ผู้อำนวยการกองพัฒนามาตรฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และมี ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร รักษาการอธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี และ ดร.ประวีณา คาไซ คณบดีคณะศิลปะการประกอบอาหาร วิทยาลัยดุสิตธานี ให้การต้อนรับ
ในพิธีเปิด ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร รักษาการอธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวว่า วิทยาลัยดุสิตธานีเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ จึงมีความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยคณาจารย์ผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวโดยตรง ทั้งยังผลักดันให้นักศึกษาได้ประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานจริง ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการจัดการเรียนการสอนบนฐานสมรรถนะ Competency Based Education
“ขณะเดียวกันวิทยาลัยดุสิตธานีก็มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวด้วย โดยเชื่อมั่นว่า ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียนจะเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการรับรองบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และนำไปสู่การขับเคลื่อนบุคลากรที่มีความสามารถ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศไทย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ”
สำหรับผู้ที่ผ่านการประเมินตามข้อตกลงฯ นั้นจะเสมือนได้รับใบการันตีรับรองสมรรถนะการทำงาน และเป็นใบเบิกทางสำหรับไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างอิสระ นับเป็นการสร้างมาตรฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้เทียบเท่าระดับสากล อันจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาเซียนต่อไป ซึ่งวิทยาลัยดุสิตธานีมีความยินดียิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาเซียนดังกล่าว