ปี 2566 ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของแต่ละประเทศและภาคธุรกิจจากวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของรายได้และ GDP หลักของประเทศคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่าน ทว่า แนวโน้มของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวนั้นกำลังมาในทิศทางที่ดี
เมื่อไม่นานมานี้ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านทิศทางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการทั้งในระดับประเทศและระดับโลกผ่านการบรรยายภายใต้หัวข้อ Winning the future of Thai hospitality ภายในงาน Growing to the Next Level จัดโดยวิทยาลัยดุสิตธานี โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ภาพรวมการท่องเที่ยวของโลกและของประเทศไทย สิ่งที่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการไทยต้องรู้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการฟื้นตัว เทรนด์ด้านอาหาร และการศึกษาด้านการบริการ
ท่องเที่ยวโลกกำลังฟื้นตัว ความท้าทายคือการปรับตัวและจำนวนแรงงาน
คุณศุภจีได้นำสถิติจากองค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (The United Nations World Tourism Organization: UNWTO) มาเผยให้ดูว่า หากนำอัตราการเดินทางระหว่างประเทศในปี 2562 เป็นเป้าหมาย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ ทั่วทั้งโลกมีการฟื้นตัวในด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่ 80% นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากซึ่งเติบโตจาก 63% ในปี 2565 จะเห็นได้ว่าการกลับมาคืนสู่ภาวะปกติของการท่องเที่ยวทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ทว่า ธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้เนื่องจากนักวิเคราะห์ได้ให้ข้อมูลว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นเป็นลักษณะ K-shape นั่นก็คือหากสามารถฟื้นตัวได้ก็จะค่อย ๆ เติบโตอย่างต่อเนื่องหรือก้าวกระโดด แต่หากทำไม่สำเร็จก็อาจจะทำให้ธุรกิจนั้นไม่สามารถอยู่รอดได้ ปัจจัยที่ชี้ว่าธุรกิจนั้นจะร่วงหรือรอดคือการปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 ได้มาเยือน
อีกหนึ่งความท้าทายของการฟื้นตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็สามารถมองเป็นโอกาสของผู้ที่สนใจในสายงานนี้ได้ก็คือการขาดแคลนบุคลากร คุณศุภจีได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ของตนที่สนามบินฮาเนดะในประเทศญี่ปุ่นที่ปิดพื้นที่ให้บริการไปครึ่งหนึ่งเนื่องจากไม่มีคนทำงาน ซึ่งสวนทางกับความต้องการของนักท่องเที่ยว หรือแม้แต่ในประเทศตะวันออกกลางที่การท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ 100% แล้ว แต่ก็ยังมีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโซนตะวันออกกลางและยุโรป รวมถึงต้องการบุคลากรที่มี hospitality mindset คุณศุภจีจึงได้กล่าวเพิ่มเติมว่าประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในด้านนี้ ซึ่งวิทยาลัยดุสิตธานีก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยอาจเสริมทักษะด้านภาษาที่ 3 ให้กับผู้ที่สนใจทำงานในอุตสาหกรรมบริการเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากขึ้น
เทรนด์เข้าพักและใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเปลี่ยน ต้องโฟกัสที่ไลฟ์สไตล์และการเพิ่มมูลค่า
คุณศุภจีได้กล่าวต่อว่าจากผลการสำรวจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยพบว่าในปี 2562 รายได้ที่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรงและโดยอ้อมรวมกันอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 21.9% ของ GDP โดยแยกเป็นนักเดินทางภายในประเทศและนักเดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งจำนวนของการเดินทางภายในประเทศอยู่ที่ 166.84 ล้านทริป สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรม 1.08 ล้านล้านบาท ในขณะที่นักเดินทางจากต่างประเทศมีทั้งหมด 39.8 ล้านคน เกิดการใช้จ่ายทั้งหมด 1.93 ล้านล้านบาท ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเข้าพักประมาณ 9.26 วัน ใช้จ่ายตกวันละ 5,172 บาทต่อคน นั่นหมายความว่าใช้จ่ายประมาณ 48,000 บาทต่อคนต่อทริป แต่หลังจากนั้น trend การใช้จ่ายและระยะเวลาการเข้าพักก็ลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น ต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่าเพื่อที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าพักนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอยู่ที่ 11.2 ล้านคน สร้างรายได้ 6 แสนล้านบาท นักเดินทางในประเทศ 202 ล้านทริป ทำรายได้ให้กับอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 6 แสนล้านบาทเช่นกัน นั่นหมายความว่าก่อนช่วงโควิด รายได้ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยมาจากนักท่องเที่ยวในประเทศเพียง 1 ใน 3 แต่เพิ่มขึ้นเป็นครึ่งหนึ่งในปี 2565 ตัวแปรที่ทำให้เกิดตัวเลขนี้คือนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ หรือ ‘คนละครึ่ง’ ซึ่งส่งผลให้คนไทยชอบเดินทางในประเทศมากขึ้นและมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เช่น นิยมการท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับมากขึ้น เลือกที่จะเที่ยวเมืองรองและเมืองเล็กอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลักเนื่องจากมีค่าครองชีพต่ำกว่า นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจในท้องถิ่นจะหมุนเวียนดีขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย แต่ผลกระทบในแง่ลบคือประชาชนอาจรอโครงการจากภาครัฐในครั้งต่อไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่ต้องจ่ายเอง ดังนั้น ธุรกิจการท่องเที่ยวยังคงต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โดยต้องสร้างสมดุลระหว่างกัน
คุณศุภจีได้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทยคือกลุ่มตะวันออกกลางที่เดินทางมาเพื่อใช้จ่ายในเชิงการแพทย์และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางระยะยาว เช่น นักท่องเที่ยวจากโซนตะวันตก ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศต้องดึงดูดด้วยจุดขายที่แตกต่างและตรงกับความต้องการที่เฉพาะมากขึ้น โดยเทรนด์ของนักท่องเที่ยวในประเทศมีทั้งการเที่ยวไปทำงานไป (Workation) การเดินทางเพื่อไปไหว้พระขอพร การตะลุยกิน การเสพวัฒนธรรมท้องถิ่น การผจญภัย การดูแลสุขภาพ การร่วมเทศกาลคอนเสิร์ต อีเวนต์ วิ่งมาราธอน การท่องเที่ยวคนเดียว การรักษ์โลก และการท่องเที่ยวและบริการที่ตอบโจทย์กับผู้ทำงานอิสระ ซึ่งค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวของโลกที่ประกอบด้วยการมุ่งเน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก สุขภาพ ความยั่งยืน การทำงานไปด้วยท่องเที่ยวไปด้วย ความรู้สึกเชื่อมโยงกับท้องถิ่น การพักผ่อนระยะยาวเพื่อประสบการณ์ที่มากกว่า และการทำการตลาดที่มุ่งเน้นไปที่ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยควรมุ่งเน้นไปที่คุณภาพการท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว เพิ่มความหมายของการเดินทางเพื่อขยายระยะเวลาอยู่อาศัยและค่าใช้จ่าย
อาหารที่ตอบโจทย์ในอนาคตคืออาหารที่ดีต่อโลก ดีต่อสุขภาพ และดีต่อการส่งออก
คุณศุภจีได้ยกประเด็นถึงภาวะโลกร้อนและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความต้องการด้านอาหารเพิ่มสูงขึ้นและผลกระทบในด้านอื่น ๆ กระแสด้านการผลิตอาหารที่กำลังเติบโตขึ้นในโลกจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องของความยั่งยืน เช่น การผลิตเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Plant-based meat) การหาแหล่งอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะ นอกจากนั้น การบริหารจัดการการผลิตที่ดีขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ด้านอาหารที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารให้เหมาะกับการทำเองที่บ้านหรือการจัดส่งมากขึ้น และนับตั้งแต่วิกฤตการณ์โควิด-19 สุขภาพได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งได้เปลี่ยนมุมมองต่ออาหารเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นได้ นับว่าเป็นโอกาสของอาหารไทยที่จะกลายเป็น Soft Power ได้เนื่องจากมีคุณสมบัติในการรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงมีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาคและเป็นภาพสะท้อนของความเป็นไทย โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2565 โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท
มุ่งส่งเสริมการศึกษาด้านการบริการเพื่อคว้าโอกาสในช่วงขาขึ้น
คุณศุภจีได้แสดงความคิดเห็นว่าการศึกษาด้านการบริการและศิลปะการประกอบอาหารจะช่วยปูพื้นฐานที่ดีให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและการบริการในอนาคตของประเทศและของโลก โดยสำหรับประเทศไทยแล้ว การผลิตบุคลากรคุณภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการบริการอย่างไทย (Thai Hospitality) จะเป็นการช่วยนำความเป็นไทยไปเผยแพร่สู่สายตาของชาวโลกได้ ผ่านการส่งออกแรงงานสู่ต่างประเทศและการต้อนรับนักเดินทางจากทั่วโลก หลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรที่เป็นไปตามความต้องการของอุตสาหกรรมนั้นควรจะมีความสอดคล้องกับการทำงานจริงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ มีการนำเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลมาผนวกร่วม มุ่งเน้นความยั่งยืนและวิธีปฏิบัติที่แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีทักษะด้านอารมณ์และ Soft Skill ที่สร้างความได้เปรียบให้กับแต่ละบุคคลได้
แม้ว่างานในอุตสาหกรรมนี้จะได้รับความนิยมน้อยลงจากเมื่อก่อนแต่รายได้ของบุคลากรในระดับปฏิบัติการก็สามารถอยู่รอดได้ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน คุณศุภจีได้แสดงตัวเลขของรายได้เฉลี่ยในธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการไทยว่ารายได้เฉลี่ยของบุคลากรทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 64,600 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 24,500 บาท และ 75% ของทั้งหมดได้รับรายได้ตั้งแต่ 46,700 บาทขึ้นไป ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและมั่นคงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการไทยเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างโอกาสดี ๆ ให้กับอนาคตของชาติได้อย่างแท้จริง