“Fittermore” เป็นชื่อของแบรนด์ชุดออกกำลังกายสตรีที่กำลังได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ ทั้งจากคุณภาพสินค้าที่ดี ช่วยรักษาสรีระของผู้สวมใส่ ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ลดกลิ่นเหงื่อ ภายใต้ราคาที่เหมาะสมและการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของแบรนด์นี้คือ คุณหนึ่ง – ธนพล ธนสารพิสุทธิ์ ชายหนุ่มผู้ริเริ่มไอเดียนี้และต่อยอดในคลาสเรียนปริญญาโท ณ วิทยาลัยดุสิตธานี โดยมีที่มาจากความต้องการชุดออกกำลังกายที่ดีสำหรับภรรยา
คุณหนึ่งกล่าวว่า “ช่วงนั้น ภรรยาของผมอยากได้ชุดออกกำลังกายที่ดีสักตัวแต่มันหายากมาก เพราะการใส่ชุดออกกำลังกายที่ไม่เข้ากับตัวคนใส่จะทำให้สรีระเปลี่ยนไป อีกทั้งเวลาเหงื่อออก ชุดออกกำลังกายบางชนิดจะสะสมเหงื่อ ทำให้เกิดกลิ่นและอาจใส่แล้วเกิดผื่นแดงได้ ส่วนใหญ่แบรนด์ที่ทำชุดออกกำลังกายดี ๆ จะเป็นแบรนด์ต่างประเทศ ค่านำเข้าและภาษีค่อนข้างสูง ผมคิดว่าคงมีหลาย ๆ คนที่รู้สึกถึง pain point นี้เหมือนกัน เลยลองทำแบบสำรวจส่งไปให้เพื่อน ๆ ใน Facebook และกลุ่มต่าง ๆ ทำดู ผลตอบรับที่ได้มา 300 กว่าคนมี pain point ที่คล้าย ๆ กันครับ ทั้งเรื่องคุณภาพ การตัดเย็บ ราคาที่จับต้องไม่ได้ และไม่มีแบบที่ตัวเองต้องการ พอได้แนวคิดตรงนี้มา ผมกับ partner ก็มาประมวลความคิดกันครับ ประจวบกับตอนนั้นผมกำลังจะเริ่มเรียนวิชา Marketing ของ ดร.ตุ๊กตา (ดร.วิลาสินี ยนต์วิกัย คณบดีหลักสูตรไทยและอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยดุสิตธานี) อาจารย์ก็สั่่งงานให้นักศึกษาเสนอโครงการ สินค้า หรือบริการอะไรก็ได้ขึ้นมาเพื่อทำ pitching ในห้องและหาเพื่อนร่วมทีม เป็นเหมือนการจำลองการก่อตั้ง startup ครับ ผมเลยเสนอโปรเจคต์ Fittermore ขึ้นมาว่าเป็นชุดออกกำลังกายที่มีนวัตกรรมการทำผ้าที่รักษาดูแลผิว ใช้วัตถุดิบที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พอเสนอไปก็ได้เพื่อนร่วมทีมมา 2 คน เก่งทั้งคู่เลยครับ เลยทำให้โปรเจคต์นี้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ได้ไอเดียมาอีกเยอะเลยครับ”
อาจเป็นที่สะกิดใจผู้อ่านหลาย ๆ คนว่า ชุดออกกำลังกายสามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร คุณหนึ่งจึงได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจในเวลาเดียวกันว่า
“ชุดออกกำลังกายของหลาย ๆ แบรนด์ เขาจะใช้ผ้าน้ำมันเป็นองค์ประกอบหลักในการทำชุดออกกำลังกายครับ คือเขาจะใช้ผ้า Spandex ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันในเส้นใยผ้าเพื่อที่จะทำให้ผ้ายืดมากขึ้น แต่น้ำมันพวกนี้เวลาโดนผงซักฟอกหรือน้ำยาต่าง ๆ ในการซักผ้าบ่อย ๆ น้ำมันในเส้นใยจะไหลออกมาและทำให้น้ำเสียได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา เราเลยต้องหานวัตกรรมอะไรก็ตามที่ลดการเกิดสิ่งนี้ แต่คงสภาพการยืดหยุ่นได้อยู่ ซึ่งเราได้พบกับนวัตกรรมของผ้าชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้วแต่ไม่นิยมใช้กัน เราจึงได้นำนวัตกรรมตัวนั้นมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แล้วก็ในอนาคต เรามองว่าเราต้องการใช้ผ้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้าโพลีเอสเตอร์ที่มาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติก ซึ่งเราก็กำลังวางแผนที่จะใช้ในรุ่นถัด ๆ ไป เรามองว่าการที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ เราต้องไม่ใช่แค่รวยอย่างเดียว ต้องทำให้สังคมเติบโตไปในทางที่ยั่งยืนด้วยครับ ให้สังคมได้รู้ว่าภาวะสิ่งแวดล้อมตอนนี้สำคัญมาก เราต้องเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่แสดงจุดยืนว่าเราจะดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย ถึงแม้ว่าเราจะเป็นแบรนด์เล็ก ๆ แต่เราต้องสร้าง impact ให้ได้ว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญและคนจะต้องให้ความสำคัญกับมันได้แล้วครับ”
เมื่อได้ไอเดีย ทีม และที่ปรึกษาเรียบร้อย คุณหนึ่งจึงได้ใช้โอกาสนี้ลงลึกไปในทุกอณูของการสร้าง Fittermore ให้มั่นคงโดยอาศัยความรู้เชิงลึกจากหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจของวิทยาลัยดุสิตธานีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา
“หลังจาก pitching ได้เพื่อนร่วมทีมมาเสร็จปุ๊บ ก็เริ่มมาลงมือทำกัน เพราะ Fittermore ตอนนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ทุกอย่างอยู่ในหัวหมด ยังไม่มีการเขียนออกมาเป็นแผนอะไร พอมันกลายมาเป็นโปรเจคต์ในคลาสนี้ ทุกอย่างก็ลงมาอยู่ในกระดาษ ลงเป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้น อาจารย์ให้โจทย์มาเรื่องการทำ SWOT analysis (การวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรคของธุรกิจ) ครับ SME หรือโปรเจคใหม่ ๆ ทั่วไปคงจะไม่มีใครมานั่งเขียน SWOT แบบละเอียดยิบขนาดนี้ แต่พอ Fittermore เกิดในคลาสเรียน เราต้องวิเคราะห์ SWOT แบบจริง ๆ จัง ๆ เราก็ได้มาเห็นว่าจุดอ่อนมันคืออะไร โอกาสของมันมีอะไรบ้าง อุปสรรคที่จะเกิดขึ้นต้องระวังอะไรบ้าง ทำให้เรามาเห็นตรงนี้อย่างเป็นรูปเป็นร่าง หลังจากนั้น อาจารย์ก็ให้เราเริ่มทำ TOWS Matrix (การวิเคราะห์ว่าหากเกิดโอกาส-อุปสรรคของธุรกิจขึ้น จะสามารถใช้จุดแข็ง-จุดอ่อนขององค์กรทำให้เกิดประโยชน์หรือบรรเทาผลกระทบได้อย่างไร) นี่ทำให้เราได้เห็นกลยุทธ์ ซึ่งตอนนี้เราได้เอากลยุทธ์เหล่านั้นมาใช้กับ Fittermore จริง ๆ ในปัจจุบันครับ เช่น weakness ของเราคือเราไม่มีประสบการณ์ตรงนี้มาก่อน แต่ opportunity ของเราคือเราได้ร่วมงานกับโรงงานที่มีประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ และเขาผลิตสินค้าให้กับหลายแบรนด์ดัง ๆ ทั่วโลก เราก็เลยได้ประสบการณ์ตรงนี้เอามาเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ว่าเรามีการผลิตที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับระดับแบรนด์ชั้นนำของโลกได้”
นี่เป็นเพียงวิชาหนึ่งจากหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจของวิทยาลัยดุสิตธานีที่ส่งเสริมให้ Fittermore เติบใหญ่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จของ Fittermore ก็คือความมุ่งมั่นและทุ่มเทของคุณหนึ่งที่มีต่อธุรกิจที่เปรียบเสมือนลูกของเขา เพื่อภรรยา สตรีอีกนับล้านคน และโลกใบนี้
ปัจจุบัน วิทยาลัยดุสิตธานี เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) สำหรับ 2 กลุ่มวิชาด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจการบริการ และกลุ่มวิชาผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม และในอนาคตอันใกล้ จะมีการเปิดกลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://edu.dtc.ac.th/mba-hospitality-business-management/