Hi

“ออเดอร์แรงตั้งแต่เริ่มขาย!” Konkrua แบรนด์กระเป๋าครัวที่ตอบโจทย์คนครัวอย่างแท้จริง จากฝีมือศิษย์เก่าดุสิตธานี

28 เมษายน 2022

ในช่วงเช้าของวันทำงาน หากใครได้เดินทางผ่านเส้นถนนศรีนครินทร์ ขาเข้าถนนบางนา-ตราด อาจได้เห็นน้อง ๆ นักศึกษาในชุดเสื้อยืดสีขาวหรือสีดำ กางเกงขายาว สะพายเป้ และวิ่งถือกล่องใบโตอยู่แถวซอยศรีนครินทร์ 49 นั่นเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกได้ว่าท่านกำลังพบกับนักศึกษาครัวของวิทยาลัยดุสิตธานีอยู่ โดยกล่องใบโตนั้นเป็น(สัม)ภาระสำหรับเก็บเครื่องมือทำครัวหลากหลายชนิดที่เรียกได้ว่าพะรุงพะรังและไม่ค่อยเหมาะสมกับการเดินทาง 

“ส่วนใหญ่ เด็กครัวของที่นี่จะขนอุปกรณ์ไป-กลับระหว่างที่พักกับวิทยาลัยค่ะ เพราะต้องใช้อุปกรณ์ของตัวเองในการเรียนในห้องเรียนและการฝึกซ้อมที่บ้าน ซึ่งอุปกรณ์ครัวก็ไม่ได้มีแค่มีดนะคะ มีทั้งไม้พาย ไม้ตีวิป และอีกสารพัดเลยค่ะ ที่จริงแค่มีดก็มีหลายชนิดแล้ว” เบลล์ – บุษบากร สุวรรณสิทธิ์ และ ไอด้า – นุสรา วันโมรี 2 สาวศิษย์เก่าสาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร วิทยาลัยดุสิตธานี อธิบายถึงปัญหาของสิ่งที่ต้องพกมาเป็นประจำสมัยเรียน “เด็กครัวมีปัญหาเรื่องการพกอุปกรณ์ไปเรียนค่ะ เพราะจากที่มีข้อมูลตอนนี้ เด็กครัวจะเอาอุปกรณ์ครัวใส่กล่องบ้าง ใส่ถุงบ้าง ซึ่งตอนหยิบมาใช้ก็ไม่สะดวก ต้องคุ้ยหาอุปกรณ์ในนั้น แถมเราไม่ได้ขนมาแค่อุปกรณ์ครัวอย่างเดียวด้วย มีหนังสือเรียนอีก เราก็กลับมาคิดกันว่าทำไมเราต้องพกสัมภาระมาหลาย ๆ ใบ ทั้งที่สามารถรวมกันได้ในใบเดียวแล้วจะสะดวกมากกว่า” 

ด้วยเหตุนี้เอง เบลล์และไอด้าจึงได้ไอเดียในการออกแบบธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นั่นก็คือ “กระเป๋าครัว” นั่นเอง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ทั้งสองคนได้ออกแบรนด์กระเป๋าครัวดีไซน์น่ารักภายใต้ชื่อ “Konkrua” 

เบลล์กล่าวว่า “ที่จริงไอเดียธุรกิจนี้เกิดขึ้นตอนที่เรียนวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจค่ะ โจทย์คือต้องหา pain point แล้วสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา pain point นี้ไอด้าเป็นคนเสนอขึ้นมาค่ะ มันก็เลยกลายเป็นโจทย์ที่เราเอามาทำเป็นโปรเจคต์ พอเรียนจบ เราก็คิดว่าโปรเจคต์นี้มันน่าสนใจและทำให้เป็นจริงได้ ก็เลยลงมือทำให้มันเป็นจริง ก็เรียกได้เลยนะคะว่าวิชานี้ทำให้เกิดธุรกิจขึ้นมาได้จริง”  

ไอด้าเสริมว่า “ตอนนั้นอาจารย์ก็ชี้แนะว่ามันน่าจะต่อยอดได้และไปได้ไกลนะ พวกเราเลยมีแรงบันดาลใจอยากจะทำกันต่อ ตอนพวกเราเรียนจบมาก็เจอโควิดพอดีเลยแยกย้ายกันไปทำงานประจำ แต่พวกเราก็หาเวลามาต่อยอดไอเดียนี้เรื่อย ๆ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่เราเริ่มทำจริงจังค่ะ พวกเราดีใจมากที่เพิ่งเปิดแบรนด์ได้ประมาณ 20 วันก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก พวกเราขายสินค้าล็อตแรกที่ผลิตได้ครึ่งหนึ่งแล้วค่ะ” 

กระแสตอบรับนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่า Konkrua สามารถตอบโจทย์ด้านการใช้งานและดีไซน์ได้อย่างดี และอาจมีการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่มากกว่าการแก้ pain point เท่านั้น 

เบลล์เล่าว่า “ตอนที่ทำโปรเจคต์ เราได้ไปปรึกษากับอาจารย์ด้านการดีไซน์กระเป๋าด้วย อาจารย์ให้คำปรึกษามาว่าการออกแบบกระเป๋าต้องดูด้วยว่านักศึกษาที่จะใช้งานเขาเดินทางอย่างไร เพราะตอนแรกกระเป๋าจะไม่ใช่ทรงนี้นะคะ เป็นทรงเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ เลยค่ะ พอได้คำแนะนำจากอาจารย์มา เราก็เอามาปรับจนกลายเป็นเวอร์ชั่นที่เราคิดว่าดีที่สุดและตอบโจทย์ที่สุดแล้วในตอนนี้” 

ไอด้าเสริมว่า “หนูเป็นคนหนึ่งค่ะที่บ้านอยู่ไกล หนูต้องขี่มอเตอร์ไซค์มาเรียนหรือบางครั้งนั่งรถเมล์มา หนูต้องพกทั้งกระเป๋าสะพายใส่หนังสือเรียนมาด้วย แล้วก็กล่องใส่อุปกรณ์ครัวด้วย มันก็จะเยอะแยะไปหมด ดีไซน์ของสินค้าของเราเลยออกแบบมาให้รวมหนังสือเรียนและอุปกรณ์ครัวมาไว้ในที่เดียว แถมดีไซน์ให้เป็นเป้เพื่อช่วยเซฟร่างกายด้วยค่ะ เพราะถ้าเราถือของหนัก ๆ ข้างเดียวเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเราเสียสมดุล เป็นเป้จะช่วยให้ไหล่เราแบกรับน้ำหนักได้เท่า ๆ กัน” 

กระแสตอบรับที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงในหมู่นักศึกษาครัวเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพเชฟด้วย เนื่องมาจากบริบทการใช้งานที่ใกล้เคียงกันและการที่กระเป๋าของ Konkrua สามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ 

ไอด้ากล่าวว่า “จริง ๆ ด้ากับเบลล์ทำงานคนละสายกันค่ะ เบลล์ทำงานในร้านอาหารมากกว่า ส่วนด้าเน้นทำงานในครัวของโรงแรม เราเลยเจอ pain point กันคนละอย่างที่สามารถนำมาปรับกับสินค้าของเราได้ อย่างที่โรงแรมมีอุปกรณ์ครัวครบก็จริง แต่ด้วยความที่คนเยอะ มีการแบ่งเป็นฝ่าย ๆ ชัดเจนด้วยค่ะ เป็นครัวร้อน ครัวเย็นแยกออกจากกันเลย อุปกรณ์ก็จะแบ่งใช้ได้ไม่ทั่วถึง เราก็ต้องเอาของของเราไปใช้ที่โรงแรมด้วย ซึ่งเราก็ต้องมีกระเป๋าเพื่อเอาไปเก็บของของเรากันของหายและไม่ทำให้ด้ามมีดบิ่น หนูเลยเอา pain point ตรงนี้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเราให้มีตีนตุ๊กแกสำหรับรัดมีดด้วยค่ะ” 

เบลล์เสริมว่า “ส่วนที่ร้านอาหารจริง ๆ ก็มีการแบ่ง section กันนะคะ แต่มันยืดหยุ่นกว่า ใครว่างก็มาช่วยอีกฝ่ายได้ เลยทำให้การใช้อุปกรณ์ครัวมีความยืดหยุ่นมากกว่า แต่บางทีอุปกรณ์ในร้านก็มีไม่ครบครันเท่าโรงแรม เชฟร้านอาหารส่วนใหญ่เลยจะพกอุปกรณ์กันไปเองค่ะ โดยเฉพาะมีด เพราะบางทีมีดแต่ละชนิดจะมีความถนัดมือที่แตกต่างกัน ก็เลยต้องเอาของตัวเองไปค่ะ กระเป๋าของเราจึงมีการแบ่งช่องหลักสำหรับใส่มีดและอุปกรณ์จำเป็นหลาย ๆ อย่าง ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง เราออกแบบให้ช่องใส่ของเหล่านั้นติดกับตีนตุ๊กแก จะได้เอาออกได้เมื่อไม่ใช้งานหรือกางแผ่ออกมาใช้ได้ง่ายค่ะ” 

ด้วยปัญหาเล็ก ๆ ในสมัยเรียนที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้ เบลล์และไอด้าจึงอาศัยโอกาสในช่วงโควิดเบนสายจากงานเชฟที่เป็นความฝันแรกเริ่มของทั้งคู่ และกระโดดเข้ามาเติมเต็มช่องว่างอย่างตรงจุด ทว่าสินค้าของ Konkrua จัดได้ว่าอยู่ในตลาดเฉพาะทาง หรือก็คือมีกลุ่มลูกค้าและการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง ความนิยมจะเกิดขึ้นได้ยากมากหากปราศจากปัจจัยสำคัญก็คือ “ข้อมูล” และ “คอนเนคชั่น” 

ไอด้าเล่าว่า “ตลาดเฉพาะทางมีข้อดีตรงที่ว่าเรารู้ว่าลูกค้าของเราเป็นใคร ต้องการอะไรจริง ๆ ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในคนที่เจอ pain point นี้จริง ๆ เราลองถามคนอื่นว่าเจอปัญหาเหมือน ๆ กับเรารึเปล่า หรือมีปัญหาอะไรที่เขาเจออีกบ้าง และในวิชาวิธีวิทยาการวิจัยทางธุรกิจ เรามีการเก็บข้อมูลในประเด็นนี้ด้วยค่ะ จึงพบว่าลูกค้าก็ตามหากระเป๋าจริง ๆ ตอนนั้นเราเรียนวิชานี้ควบคู่กับวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจพอดี เราเลยได้เปรียบที่เราสามารถพัฒนาธุรกิจของเราไปทั้งในเชิง insight ของลูกค้าและพัฒนาสินค้าไปด้วยกันตั้งแต่ตอนที่เรายังล้มได้ค่ะ” 

เบลล์เสริมว่า “ต้องขอบคุณวิทยาลัยดุสิตธานีที่ให้คอนเนคชั่นที่ดีด้วยค่ะ ส่วนหนึ่งที่เราได้ผลการตอบรับที่ดีมากขนาดนี้และได้โอกาสที่ดีมากขนาดนี้เพราะเราได้รับความเอ็นดูและการสนับสนุนจากอาจารย์ พี่ ๆ และน้อง ๆ ในวิทยาลัยดุสิตธานี อาจารย์ก็น่ารักมาก ถึงเราจะเรียนจบไปแล้ว แต่ก็ยังคอยให้คำแนะนำ ให้โอกาสดี ๆ คอยรีวิวสินค้าให้ และสนับสนุนโดยตลอด ทางวิทยาลัยก็มีเชิญให้พวกเราไปออกสินค้าใหม่ด้วยกันเพื่อขายในร้าน D Shop ที่วิทยาลัยฯ เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ พวกเราลองผิดลองถูกมาเกือบ 2 ปี พอได้ผลตอบรับดี เราก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองมากค่ะ” 

โอกาสและการมองเห็นโอกาสอาจไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว บางทีอาจเริ่มต้นเพียงแค่การได้สังเกตสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน และมองหาคำตอบหรือสิ่งที่จะมาเติมเต็มช่องว่างตรงนั้นได้ ในอนาคต หากใครได้เดินทางผ่านเส้นถนนศรีนครินทร์ ขาเข้าถนนบางนา-ตราด อาจได้เห็นน้อง ๆ นักศึกษาในชุดเสื้อยืดสีขาวหรือสีดำ กางเกงขายาว สะพายเป้ของ Konkrua แทนก็เป็นได้ 

ผู้ที่สนใจ Konkrua สามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/konkruaofficial/  

DTC Talk

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ข่าวอื่น ๆ

17 ธันวาคม 2024

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักประชาสัมพันธ์

โทร: 02 721 7811–3 อีเมล: pr.pr@dtc.ac.th

ยินดีต้อนรับสู่วิทยาลัยดุสิตธานี​
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ คลิก!

คุณได้เพิ่มคอร์สเรียนแล้ว