เรื่องโดย อาจารย์นิศา บูรณภวังค์ อาจารย์ประจำศูนย์ภาษา วิทยาลัยดุสิตธานี
ที่มา: The Bangkok Insight (www.thebangkokinsight.com)
——————————————————————————
ถ้าจะให้พูดถึงประเทศที่พวกเราชาวไทยนิยมไปเที่ยวพักผ่อน ประเทศไต้หวันก็น่าจะติดอันดับ Top5 อย่างไม่ต้องสงสัย จากประเทศที่คนไม่ค่อยรู้จัก กลายเป็นจุดหมายปลายทางระดับต้นๆ กันไปแล้ว อาจจะเพราะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ผสมผสานทั้งความละมุนละไม ธรรมชาติที่สมบูรณ์ และความทันสมัยของบ้านเมือง
โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประเทศไต้หวันมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ Covid-19 รัฐบาลจัด โครงการ Taiwan Lucky Land ขึ้นจนถึงมิถุนายนปีหน้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางแบบอิสระมาเที่ยวและลุ้นรับรางวัลในลักษณะของบัตรแทนเงินสด หรือ Accommodation Voucher คนละ 5,000 ดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อใช้เข้าพักในโรงแรมก็ได้ ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวทุกคนก้าวพ้นสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติเถาหยวนแล้ว สิ่งแรกที่จะต้องทำเลย คือ การชิงโชค Lucky Draw นั่นเอง….แต่ เอ๊ะ !….จะมีใครเหมือนกับผู้เขียนที่เป็นอาจารย์วิทยาลัยดุสิตธานีบ้างไหมนะที่จำเป็นต้องช่างสังเกตเพื่อเก็บสิ่งรอบตัวมาสอนนักศึกษา ว่า…ทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นการโฆษณาเชิญชวนให้ท่องเที่ยวของไต้หวันล้วนแต่มีมาสคอตรูป “เจ้าหมีสีดำ” ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางเดินในสนามบิน ป้ายประกาศร่วมลุ้นรางวัล หรือป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ นานา ….เจ้าหมีตัวนี้คือสัตว์ประจำชาติของประเทศไต้หวันหรืออย่างไรกัน ?
เจ้าหมีดำหน้าตาจิ้มลิ้มตัวนี้ ชื่อว่า “Oh Bear” หมี Oh Bear มีที่มามาจาก หมีดำฟอร์โมซา ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์การท่องเที่ยวของไต้หวันและเพิ่งได้แต่งตั้งเป็นสัตว์สัญลักษณ์การแต่งงานเพศเดียวกันในไต้หวันเมื่อวันที่ 24 พ.ค 2562 (https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_2604580) การที่ไต้หวันนำเอาสัตว์ตัวนี้มาเป็นมาสคอต เป็นเพราะว่าหมีดำฟอร์โมซาเป็นสัตว์อนุรักษ์ของไต้หวัน รองศาสตราจารย์ หวาง เม่ย-ซิ่ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์อนุรักษ์ บอกว่าจำนวนหมีดำเกือบสูญพันธุ์แล้ว เพราะถูกล่าอย่างผิดกฎหมาย ปัจจุบันอาจมีหมีดำในไต้หวัน เพียงแค่ 200-600 ตัว ซึ่งมีจำนวนลดลงจากในอดีตอย่างเห็นได้ชัด สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ICUN) จัดอันดับหมีดำฟอร์โมซาให้อยู่ในกลุ่ม “สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์”
ประวัติคร่าว ๆ ของหมี Oh Bear เริ่มขึ้นจากการที่กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของประเทศไต้หวันได้สร้างมาสคอตตัวนี้มาเพื่อเป็นตัวแทนของการท่องเที่ยว โดยเริ่มเผยแพร่จากการเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ก่อนในวันที่ 3 ธันวาคม 2013 และต่อมาในปี 2018 สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ร่วมมือกับรัฐบาลไถตง จัดกิจกรรมบอลลูนในไต้หวันโดยทำ “บอลลูน Oh Bear” ขึ้น และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนทำให้ทางสำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวันมีแผนที่จะปล่อยบอลลูนให้ลอยไปทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของไต้หวัน ทั้งนี้ ประเทศไทยเราก็มีโอกาสต้อนรับบอลลูน Oh Bear ด้วยเช่นกัน เพราะในวันที่ 9 -12 พฤษภาคม 2562 ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการจัด “เทศกาลสีสันบอลลูนนานาชาติ” ขึ้น ทางผู้จัดเทศกาลได้เชิญให้บอลลูน Oh Bear ของไต้หวันมาร่วมแสดงในเทศกาลนี้เป็นการพิเศษ ด้วยรูปร่างอันน่ารักของบอลลูน ทำให้ผู้มาเยี่ยมชมงานเทศกาลต่างชื่นชอบและแย่งกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกมากมาย
ล่าสุดในปี 2024 มีการจัดเทศกาลโคมไฟในเมืองไถหนาน หมีOh Bear ก็ปรากฏตัวขึ้นอีกในรูปแบบของ ถุงเครื่องรางท่องเที่ยวไถหนาน โดยลวดลายของถุงนั้นจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในไถหนาน ภายในถุงจะใส่เกลือ จากนาเกลือกระเบื้องจิ่งไจ๋เจี่ยว (Jingzaijiao Tile-paved Salt Fields) ซึ่งมีความเชื่อว่าสามารถไล่วิญญาณชั่วร้ายได้ และนอกจากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ หมี Oh Bear ยังมาในรูปของผลิตภัณฑ์ของฝากต่าง ๆ เช่น ขนมเปี๊ยะ กาแฟ ช็อคโกแลต และขนมนูกัต (ตังเมไต้หวัน) ที่ใครเห็นก็อดใจไม่ได้ที่จะซื้อหาหอบหิ้วกลับมาฝากเพื่อนฝูง
นับได้ว่า มาสคอตมีความสำคัญในการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างให้เกิดการจดจำและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก มาสคอตจึงมักถูกออกแบบในคาแรคเตอร์ของสิ่งที่สามารถรับรู้ร่วมกันได้ง่าย เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและเกิดความประทับใจ ด้วยเหตุนี้หมี Oh Bear ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อันชัดเจน ยิ่งเมื่อประกอบกับการมีภูมิหลังก็ยิ่งช่วยทำให้ผู้บริโภครู้สึกผูกพันมากขึ้น จัดว่าเป็นกลวิธีที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการสร้างแรงดึงดูดใจที่มีผลในระยะยาว ทั้งยังเป็นการสร้างความทรงจำและภาพลักษณ์ให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี