หากพูดถึงจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มาก เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึงจังหวัดนครปฐม ดินแดนทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อมากมาย เช่น สวนสามพราน พระราชวังสนามจันทร์ พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น แต่อีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจและสามารถเป็นเป้าหมายทางความยั่งยืนในจังหวัดนครปฐมได้ก็คือตำบลลำพญา สถานที่ซึ่งรวบรวมความตื่นตาตื่นใจทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะอาหารไว้มากมาย
ในการนี้ เหล่านักศึกษากลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยดุสิตธานี จึงได้สร้างสรรค์กิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร แบบไปเช้า-เย็นกลับ (A Day Trip) เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ทางด้านอาหารสุดพิเศษขึ้น รวมถึงพานักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบอาหารและความเป็นท้องถิ่นไปสัมผัสรสชาติใหม่ ๆ ของลำพญา โดยกิจกรรมนี้เป็น Final Project ในรายวิชา การท่องเที่ยวเชิงอาหารแบบยั่งยืน (Sustainable Gastronomic Tourism) ที่ได้เชฟชุมพล แจ้งไพร สุดยอดเชฟกระทะเหล็กอาหารไทย พ.ศ. 2555 และทูตอาหารยั่งยืนคนแรกของโลกที่ได้รับการแต่งตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เป็นผู้ร่วมออกแบบหลักสูตร และอาจารย์ผู้ร่วมสอนในรายวิชากับ ดร. ณัฐนรี สมิตร หัวหน้ากลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจการบริการ ด้วยความที่นักศึกษาในกลุ่มวิชานั้นมีภูมิหลังและประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจอาหาร ผู้บริหารโรงแรม Food Stylist ไปจนถึง celebrity chef เช่น เชฟปิง-สุรกิจ เข็มแก้ว เชฟเตย-พัดชา กัลยาณมิตร เชฟเอฟ-พฤทธิพงศ์ ฉันทไกรวัฒน์ จึงทำให้การออกแบบทริปนี้มีความครบเครื่อง และใช้จุดเด่นของแต่ละคนมาช่วยชูให้กิจกรรมมีความพิเศษมากขึ้น
คุณไก่-สารภี ธิติภาทร หนึ่งในนักศึกษากลุ่มนำเที่ยว ผู้รับบทบาทเป็นไกด์ของทริป ได้แสดงความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ถึงแม้ว่าหลักสูตร MBA ที่พวกเราทุกคนเรียนกันอยู่นั้นจะเน้นความรู้ด้านการบริหารมากกว่าการฝึกปฏิบัติ แต่การที่ทางหลักสูตรได้ให้โอกาสพวกเรามาลองทำทัวร์เองเพราะต้องการให้มองเห็นมุมมองของระดับปฏิบัติการด้วยว่าหน้างานจริงเจอปัญหาอะไรบ้าง เพื่อที่พวกเราจะสามารถจัดการและวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพให้สมกับการเป็นผู้บริหารที่ดีตามเป้าหมายของหลักสูตร นอกจากนี้ การจัดทริปของเรามุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน ส่งผลประโยชน์ต่อชุมชนมากกว่า เพราะการที่พวกเราพานักท่องเที่ยวใหม่ ๆ มาให้กับชุมชน นั่นก็แปลว่าชุมชนและอาหารท้องถิ่นของชุมชนก็จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น ยิ่งทัวร์ของเราสร้างความประทับใจได้มากเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อแหล่งท่องเที่ยวมากเท่านั้น ทำให้เกิดเป็นกระแสการบอกต่อและช่วยเพิ่มให้มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาที่ชุมชนอย่างยั่งยืน ชุมชนก็จะได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี รวมถึงพัฒนามูลค่าสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของชุมชนอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชุมชน แม้ว่าการจัดทัวร์ในครั้งนี้ของพวกเราจะมีคะแนนของรายวิชามาเกี่ยวข้อง แต่พวกเราไม่ได้โฟกัสที่ตัวคะแนนเท่าประโยชน์ต่อชุมชนและนักท่องเที่ยว เพราะทุกประสบการณ์สร้างความทรงจำให้พวกเขาและอาจขยายต่อให้มีคนมาเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ และสิ่งที่พวกเราทำอาจเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นในการประยุกต์ใช้กับชุมชนของตัวเองได้เช่นกัน”
กิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร แบบไปเช้า-เย็นกลับ (A Day Trip) ณ ลำพญาในครั้งนี้เริ่มต้นที่วิทยาลัยดุสิตธานีด้วยอาหารเช้าเมนูข้าวเหนียวหมูปิ้งน้ำพริกปลาร้าจากร้าน หมูแข็งแรง-หมูปิ้งโบราณ ซึ่งเป็นร้านของ คุณบอมบ์-ธันยพัฒน์ เจริญทรัพย์ นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทที่ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในไกด์ของวันนี้ด้วย ก่อนที่จะออกเดินทางสู่ตลาดน้ำทุ่งบัวแดง สถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือพายชมบัวแดง 2 ชนิดบานเหนือผิวน้ำ ได้แก่ บัวสายและบัวมะเหมี่ยว รวมถึงได้พบกับราชินีนกน้ำอย่างนกอีแจวเช่นกัน หลังจากได้ถ่ายรูปกับทุ่งบัวแดงแล้ว นักท่องเที่ยวก็ได้เพลิดเพลินกับกิจกรรมเรียนรู้การทำเมี่ยงคำกลีบบัวรสเลิศที่ใช้กลีบของดอกบัวแทนใบชะพลูก่อนเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวถัดไป
เดินทางจากตลาดน้ำทุ่งบัวแดงประมาณ 30 นาทีก็ถึงตลาดน้ำวัดลำพญา ตลาดชุมชนของชาวลำพญาที่รวบรวมของดีและวัตถุดิบท้องถิ่นของชาวบ้านไว้ในที่แห่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นปลาตะเพียนหางแดงที่สามารถทอดกินได้ทั้งตัว เป็ดพะโล้ที่ทำจากเป็ดไล่ทุ่งเนื้อแน่น และหมี่กรอบส้มซ่าที่โด่งดังจนได้ออกรายการโทรทัศน์มากมาย นักท่องเที่ยวของทริปได้มีโอกาสเดินชอปปิงผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านและสินค้าต่าง ๆ มากมาย รวมถึงได้พบเห็นบรรยากาศการค้าขายที่คึกคักตลอดทั้งบนบกและบนน้ำ หลังจากนั้นจึงได้ขึ้นเรือค้าขายของชาวจีนโบราณอย่างเรือเอี้ยมจุ๊นที่ปรับปรุงเป็นเรือท่องเที่ยวก่อนที่จะล่องแม่น้ำนครชัยศรีไปสู่ที่หมายถัดไป
ระหว่างล่องเรือ นักท่องเที่ยวทุกท่านได้รับประทานอาหารกลางวันบนเรือซึ่งเป็นของดีจากตลาดน้ำวัดลำพญาที่ถูกจัดเสิร์ฟอย่างสวยงามจากการออกแบบของ คุณกอล์ฟ-เอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ ฟู้ดสไตล์ลิสต์ชื่อดัง และนักศึกษาอีกหนึ่งท่านจากหลักสูตรปริญญาโท กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร ที่รับบทบาทเป็นหนึ่งในนักศึกษา กลุ่มวางแผนกิจกรรมการท่องเที่ยวครั้งนี้ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับของดีของชุมชนและเป็นต้นแบบในการพัฒนาสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ให้กับชุมชนได้ หลังจากอิ่มท้องกันแล้ว ผู้ร่วมทริปก็ได้เรียนรู้วิธีการพับกลีบดอกบัวให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ จากคุณเจี๊ยบ-อาทิตยา อินทรสมบัติ นักจัดดอกไม้ชื่อดัง ก่อนที่จะนำดอกบัวเหล่านี้ไปถวายหลวงพ่อเปิ่น ณ วัดกลางบางพระ วัดที่ขึ้นชื่อเรื่องของการนะหน้าทองเสริมเสน่ห์ ซึ่งมีผู้ร่วมทริปให้ความสนใจร่วมลงนะหน้าทองเป็นจำนวนมาก
หมุดหมายถัดไปของการเดินทางคือ บ้านนก คอฟฟี่ และตลาดบ้านรังนก ที่บริหารงานโดยมูลนิธิ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา สถานที่ซึ่งสนับสนุนให้ชาวบ้านนำสินค้าออร์แกนิกมาวางขายในราคาย่อมเยา เพื่อส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบ้าน รวมถึงรับฟังการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านรังนก และข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่น จังหวัดนครปฐม เมื่อนักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำบรรยากาศเคล้ากับรสชาติของขนมและเครื่องดื่มอันแสนสดชื่นที่ร้านกาแฟแล้ว ทางผู้จัดทริปก็ได้นำนักท่องเที่ยวไปชมขั้นตอนการทำหมี่กรอบส้มซ่าเจ้าดังของลำพญาแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่บ้านของคุณเบิร์ด-กิตติทัต เลิศสิทธิพันธ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ เบิร์ด หมี่กรอบส้มซ่า ซึ่งคุณเบิร์ดเป็นผู้สาธิตการทำด้วยตัวเองเพื่อคณะเดินทางในวันนี้เท่านั้น ตั้งแต่การทอดหมี่ให้ฟูกรอบ การเคี่ยวซอสส้มซ่า ไปจนถึงการคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก่อนที่ทุกคนจะได้ทดลองชิมหมี่กรอบสด ๆ ที่รสชาติเหนือคำบรรยาย คุณเบิร์ดได้เปิดเผยข้อมูลที่น้อยคนจะทราบด้วยว่า เมนูยอดฮิตนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสูตรหมี่กรอบที่เชฟชุมพลเคยถ่ายทอดไว้ในโลกออนไลน์ ซึ่งคุณเบิร์ดได้ทำการประยุกต์สูตรจนเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าและนำไปสู่ยอดขายมากกว่า 100,000 กล่องภายในครึ่งปี
สถานที่สุดท้ายของทริปลำพญาในครั้งนี้ คือ ตลาดเก่าก๊กพระยา ชุมชนจีนโบราณริมแม่น้ำท่าจีน ที่ซึ่งนักท่องเที่ยวได้รับ welcome drink เป็นน้ำมะนาวดองใส่โซดารสชาติชื่นใจ เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกับวิวแม่น้ำสวย ๆ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน และสักการะเจ้าแม่ทับทิมในบริเวณใกล้เคียงก่อนที่จะได้รับประทานอาหารเย็นแบบ Local Table ณ เรือนลำพญา อาหารไทยไทย โดยเชฟแอนนี่-อังคณา เอี่ยมสอาด เชฟเจ้าของร้านได้รังสรรเซ็ตอาหารขึ้นมาเองให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มรสชาติอาหารท้องถิ่นของลำพญา ความพิเศษของมื้ออาหารนี้คือการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วยการนำเสนอภายใต้แนวคิด Local to Global และ Zero Waste ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหารครั้งนี้ี้ นั่นก็คือ การท่องเที่ยวเชิงอาหารแบบยั่งยืน
จะเห็นได้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ทางด้านอาหาร และเกิดการประยุกต์สิ่งที่ตำบลลำพญามีอยู่ให้เกิดเป็นมูลค่าทางการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งมนต์เสน่ห์เหล่านี้กำลังรอให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัส