เรื่องโดย ดร.วิลาสินี ยนต์วิกัย ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยดุสิตธานี
ที่มา: The Bangkok Insight (www.thebangkokinsight.com)
——————————————————————————
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด นั่นคือ การมีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี ฟินแลนด์ เยอรมนี ฯลฯ ในขณะที่อีกหลายๆ ประเทศก็เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรทั้งหมด) หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 เราก็จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอดในที่สุด
หลายคนอาจวิตกในเรื่องดังกล่าว แต่อันที่จริงแล้ว การที่จำนวนผู้สูงอายุทั้งในไทยและทั่วโลกเพิ่มขึ้นนั้น กลับสามารถสร้างโอกาสให้กับธุรกิจไทยในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะจากการศึกษาความแตกต่างด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยของกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุจากประเทศต่างๆ พบว่า ผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะใช้เวลาพำนักนานกว่านักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวไทย โดยนักท่องเที่ยวสูงอายุมักสนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนันทนาการ รวมถึงการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า
ลักษณะเด่นที่เป็นนัยยะสำคัญของนักท่องเที่ยวสูงวัยกลุ่มนี้คือ “อำนาจการจับจ่าย” ผู้สูงอายุมักใช้เวลาในการตัดสินใจที่นานกว่า ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ให้ความสำคัญกับการได้รับความพึงพอใจจากการท่องเที่ยวและการบริการที่มีคุณภาพดี ให้เวลาในการท่องเที่ยวแต่ละครั้งนานกว่า และยินดีใช้จ่ายเพื่อบริการที่คุ้มค่า ไม่จำเป็นต้องราคาต่ำที่สุด เพื่อแลกกับการทำงานหนักและเก็บเงินมาทั้งชีวิต อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจท่องเที่ยวจะอยู่บนพื้นฐานของความคุ้มค่าและความปลอดภัยนั่นเอง
ผู้เขียนจึงมองว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากขึ้น ด้วยการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาธุรกิจเพื่อรองรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยของผู้สูงอายุ เช่น เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ประกอบด้วยกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ คลายความเครียด ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในแต่ละท้องถิ่น ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง เช่น ส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์และภูมิสถาปัตย์ให้เหมาะกับผู้สูงวัย หรืออบรมและพัฒนาทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้การรู้จักใช้ภาษาที่หลากหลายรองรับการเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุจากนานาประเทศก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
รัฐบาลควรพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวแก่ผู้สูงอายุ ด้วยการให้ส่วนลดพิเศษเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้พำนักในประเทศนานขึ้น (ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุที่มักท่องเที่ยวอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานานกว่าคนหนุ่มสาว) แต่สิทธิประโยชน์เหล่านี้จะไม่มีประโยชน์เลย หากปราศจากการประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุก็มีการใช้อินเทอร์เนตในการหาข้อมูลต่างๆ ไม่ต่างไปจากหนุ่มสาวเลย
ผู้เขียนมองว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ (รวมถึงผู้ทุพพลภาพ) มากกว่าแต่ก่อนมาก แต่ปัญหาความปลอดภัยของแหล่งท่องเที่ยวด้านพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างก็ยังพบอยู่ไม่น้อย เช่น แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งยังใช้บันได โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัด โบราณสถาน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แถมบางแห่งก็ยังสร้างแบบไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ไม่มีราวบันไดให้จับ ในสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติบางแห่งก็ขาดป้ายสื่อสารด้านความปลอดภัย เช่น น้ำพุร้อนที่ไม่มีป้ายเตือนถึงข้อควรระวังในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิต โรคหัวใจ หรือถ้าจะให้ดีควรระบุข้อมูลถึงสัดส่วนปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ในน้ำด้วยซ้ำ เพราะปริมาณแร่ธาตุก็อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยวสูงอายุด้วย ยังไม่รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานคือ ห้องน้ำและสุขภัณฑ์ที่หลายๆ แห่งก็ไม่ได้จัดเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยวสูงอายุเป็นกรณีพิเศษ
ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยดุสิตธานี เน้นย้ำกับผู้เรียนอยู่เสมอ เพราะเข้าใจดีว่า การรู้จักพัฒนาธุรกิจหรือสินค้าให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก และการเข้าใจความต้องการเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมายนั้น ถือเป็นปัจจัยลำดับต้นๆ ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ไม่เฉพาะแค่ธุรกิจบริการ แต่รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ด้วย