ปัจจุบันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์และนำความรู้หรือข้อมูลมาใช้ประโยชน์นั้น นับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศไทย นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่รั้งอันดับ 1 อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าได้สูงสุดแล้ว อุตสาหกรรมอาหารไทยก็สร้างมูลค่าตามมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าที่มีส่วนดันมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมอาหารไทย ก็คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจากข้อมูลของ THACCA พบว่า อาหารสัญชาติไทยติดอยู่ใน Top 20 ที่คนทั่วโลกนิยมรับประทาน
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความสำเร็จและโอกาสความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้นด้วยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงดำริให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้น เพื่อดำเนินกิจการทางด้านซอฟต์พาวเวอร์แขนงต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านอาหาร ด้วยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร อันมี เชฟชุมพล แจ้งไพร เป็นประธานอนุกรรมการ ทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการอีก 21 ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ ในฐานะที่วิทยาลัยดุสิตธานีซึ่งอยู่ในเครือโรงแรมดุสิตธานีเป็นสถาบันที่สอนทางด้านศิลปะการประกอบอาหารและธุรกิจบริการโดยเฉพาะ จึงมั่นใจได้ในเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอาหาร
ยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้อาหารไทยกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก คือการบ่มเพาะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมไทยให้มีองค์ความรู้และทักษะที่เชี่ยวชาญเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ จึงมีการจัดทำโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ตลอดจนคนไทยทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านการประกอบอาหาร โดยการเข้าร่วมหลักสูตรผู้ประกอบอาหารไทยมืออาชีพ ซึ่งดำเนินการเรียนการสอนโดยอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาต่างๆ แน่นอนว่าวิทยาลัยดุสิตธานี ก็ร่วมส่งคณาจารย์ ได้แก่ ดร. วิลาสินี ยนต์วิกัย ดร. ณัฐนรี สมิตร ดร. สุพิชา บูรณะวิทยาภรณ์ อาจารย์วชิรวิทย์ หอมบุญยงค์ อาจารย์ณัฐวุฒิ พรมจันทร์ และศิษย์เก่าหลักสูตร MBA คือ คุณเอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ เชฟแอนนี่-อังคณา เอี่ยมสะอาด และศิษย์ปัจจุบันคือ คุณธัญวรรณ ไชยศิริ และ เชฟบิ๊ก-ภูริพรรษ ใจวีระวัฒนากุล ไปเป็นผู้สอนในหลักสูตรดังกล่าว อีกทั้งยังส่ง อาจารย์ ดร. ณัฐนรี สมิตร เชฟเตย-พชรคุณ กัลยาณมิตร และ เชฟบิ๊ก-ภูริพรรษ ใจวีระวัฒนากุล ให้เป็นวิทยากรผู้ฝึกสอนในการอบรม Train the Trainer อีกด้วย
ประชาชนที่เรียนจบจากหลักสูตรต่างๆ ที่กำหนดขึ้นจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิ และกลายเป็นเชฟมืออาชีพที่กระจายตัวอยู่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ และทุกจังหวัด ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารไทยให้ไปถึงเป้าหมาย ซึ่งวิทยาลัยดุสิตธานีก็มีความยินดียิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังความสำเร็จนั้น